:: พัฒนาการด้านเศรษฐกิจสมัยรัตนโกสินทร์ ::

เศรษฐกิจโดยส่วนรวมสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอยู่ในสภาพที่พออยู่กันได้ แม้ว่าจะเก็บภาษีได้ไม่พอกับการจ่ายเบี้ยหวัดเงินปีแก่ขุนนางข้าราชการก็ตาม แต่ทางราชการก็ได้นำเงินกำไรจากการค้าสำเภากับต่างประเทศมาใช้จ่ายเพิ่มเติมซึ่งพอแก้ไขปัญหาในแต่ละปีได้
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 รายจ่ายของประเทศเพิ่มมากขึ้น จึงต้องหาวิธีเพิ่มรายได้แก่ประเทศทั้งในด้านการค้าสำเภากับต่างประเทศ และประมูลผูกขาดการเก็บภาษีอากรจนต้องเพิ่มภาษีใหม่ถึง 38 ชนิด จึงทำให้ประเทศมีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย
สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีลักษณะดังต่อไปนี้

1. ผลผลิตทางการเกษตร
สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว อ้อย และพริกไทย

  • ข้าวเป็นสินค้าที่จัดอยู่ในลำดับที่ 5 ของสินค้าที่ส่งออกมากตามลำดับ อันได้แก่ น้ำตาล ฝ้าย ไม้หอมและดีบุก ข้าวถือได้ว่าเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่ส่งเป็นสินค้าออกของไทย แต่ปริมาณการส่งออกไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสภาวะตามธรรมชาติภายในประเทศและความต้องการของตลาดต่างประเทศ
  •  น้ำตาล สามารถผลิตน้ำตาลจากอ้อยได้ ตั้งแต่ต้นสมัยรัชกาลที่ 2 แต่ต่อมาชาวจีนได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ปลูกอ้อยทำน้ำตาลได้ จึงได้มีการส่งสินค้าประเภทนี้ออกไปจำหน่ายนอกประเทศ อุตสาหกรรมประเภทนี้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
  • พริกไทย มีการส่งออกพริกไทยไปยังประเทศจีนประมาณปีละ 60,000 หาบ ซึ่งในขณะนั้นพริกไทยเป็นที่ต้องการของพ่อค้าต่างชาติมาก

2. ทรัพยากรธรรมชาติ

ทรัพยากรธรรมชาติ ที่ทำรายได้ให้กับแผ่นดินในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ ไม้ แร่ธาตุและสินค้าประเภทเหล็ก ซึ่งสรุปได้ดังนี้

  1. ไม้สัก มีมากบริเวณเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน ในสมัยรัชกาลที่ 3 พ่อค้าชาวจีน ซึ่งเป็นผู้ประมูลผูกขาดจากป่าไม้จากเจ้าเมืองฝ่ายเหนือ นอกจากคนจีนแล้ว ทางราชการก็เป็นผู้ดำเนินการโค่นไม้สักเอง เพื่อนำไปใช้ในราชการต่อเรือและส่งไปขายที่เมืองจีนและอินเดีย
  2. ไม้ฝาง ใช้ทำสีย้อมผ้า และไม้กฤษณาซึ่งเป็นไม้หอม เป็นที่ต้องการของชาวตะวันตกกลายเป็นสินค้าออกที่สำคัญ
  3. ดีบุก เป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์และกระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะที่ภูเก็ตได้กลายเป็นแหล่งผลิตดีบุกมากที่สุด แร่ดีบุกเป็นสินค้าผูกขาดที่ต้องนำมาขายให้กับพระคลังสินค้าเท่านั้น โดยเจ้าเมืองจะเป็นผู้ซื้อดีบุกจากราษฏร แล้วนำไปขายต่อให้พ่อค้าต่างชาติอีกต่อหนึ่ง

ในปลายสมัยรัชกาลที่ 3 แร่ดีบุกเริ่มเป็นที่ต้องการของตลาดในยุโรป เพราะการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้ค้นพบว่าการเอาดีบุกไปเคลือบเหล็กจะทำให้เหล็กไม่เกิดสนิม จึงทำให้ตลาดโลกต้องการมาก ดังนั้นการขุดแร่ดีบุกตามหัวเมืองชายทะเล หัวเมืองมลายู และหัวเมืองปักษ์ใต้จึงเพิ่มปริมาณมากขึ้น

นอกจากดีบุกแล้ว ยังมีเหล็ก ทองแดง ตะกั่ว ทองคำซึ่งมีอยู่ทั่วไป แร่ดิบส่วนใหญ่ได้รับการถลุงขั้นแรกที่บริเวณแหล่งแร่ ต่อจากนั้นจะถูกขนส่งมายังกรุงเทพ ซึ่งมีโรงงานผลิตเครื่องครัวและเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ สินค้าประเภทเหล็กจึงเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญและมีค่าที่สุดอย่างหนึ่งของไทย

3. การจัดเก็บภาษีอากร

ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1-2 การจัดเก็บภาษีอากรยังคงมีลักษณะเหมือนกับสมัยอยุธยา ภาษีอากรที่เรียกเก็บในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้แก่ อากรสุรา อากรบ่อนเบี้ย อากรขนอนตลาด อากรค่าน้ำเก็บตามเครื่องมือ อากรสมพัตสร (อากรพืชล้มลุก) อากรค่านา อากรสวน และส่วย ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 2 ประเภทของภาษีอากรประกอบด้วย จังกอบ อากร ส่วย ฤชา

ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการแก้ไขการเก็บภาษีใหม่ เพื่อให้มีรายได้เพิ่มพูนมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้เพราะในสมัยนี้มีศึกสงครามกับข้าศึกภายนอกมาก ดังนั้นรัชกาลที่ 3 จึงได้ทรงตั้งภาษีอากรใหม่ถึง 38 ชนิด เช่น อากรบ่อนเบี้ยจีน อากรหวย ภาษีเบ็ดเสร็จลงสำเภา ภาษีพริกไทย ภาษีไม้ฝาง ภาษีไม้แดง ภาษีเกลือ ภาษีน้ำมันมะพร้าว ภาษีน้ำมันต่างๆ ภาษีต้นยาง ภาษีใบจาก เป็นต้น

ีการเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้นหลายชนิด เพื่อให้การเก็บภาษีได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงได้ใช้วิธีการผูกขาดการเก็บภาษีอากร ซึ่งเป็นวิธีการเก็บภาษีในลักษณะที่มีผู้เสนอรับทำภาษีสิ่งของบางอย่าง ดังนั้นผู้ใดสามารถประมูลได้ (ผู้ที่สัญญาจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนต่อรัฐสูง) ก็เป็นผู้ได้รับสิทธิผูกขาดจัดเก็บภาษีสิ่งของนั้นๆ ผู้ประมูลได้เรียกว่า “เจ้าภาษีนายอากร” โดยรัฐบาลจะมอบอำนาจสิทธิขาดในการจัดเก็บอากรให้ไปดำเนินการเอง และเมื่อถึงกำหนดเวลาจะต้องนำเงินภาษีอากรที่ได้มาส่งให้ครบตามที่ประมูลไป

4. สภาพการค้าขาย

การค้าภายในประเทศอยู่ในขอบเขตจำกัด เพราะเศรษฐกิจเป็นแบบเลี้ยงตนเอง บรรดาพืชผลต่างๆ ซึ่งผลิตได้ส่วนมากจะใช้บริโภคในครัวเรือน ส่วนที่เหลือจากการบริโภคและอุปโภคแล้ว จึงจะนำมาแลกเปลี่ยนกันภายในตลาดท้องถิ่นนั้นๆ

  • การค้าขายภายในประเทศส่วนใหญ่มักจะดำเนินไปตามริมแม่น้ำลำคลอง ระบบเงินตรายังใช้เบี้ยเป็นสื่อในการซื้อขาย แต่ระบบเงินตรายังไม่ได้มาตรฐานทั่วไป คนส่วนมากนิยมการแลกเปลี่ยนกันในรูปสินค้ามากกว่า

การค้าภายในประเทศเริ่มขยายตัว เพิ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยที่ชาวจีนได้เข้ามามีบทบาททางการค้ามากขึ้น ชาวจีนจะเป็นคนกลางนำสินค้าจากท้องที่หนึ่งไปขายยังอีกท้องที่หนึ่งซึ่งอยู่ ห่างไกล

ในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายหลังที่รัฐบาลได้ทำการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น รัฐบาลจะผูกขาดการค้าทั้งภายในและต่างประเทศแต่เพียงผู้เดียว ราษฏรต้องขายผลผลิตให้กับพระคลังสินค้า โดยรัฐจะเป็นผู้ควบคุมปริมาณและราคาสินค้าได้ โดยเฉพาะสินค้าที่มีราคาและเป็นที่ต้องการของพ่อค้าต่างชาติ ราษฏรต้องนำไปขายให้กับพระคลังสินค้าเท่านั้น จะขายให้ผู้ใดโดยตรงมิได้

  • การค้ากับต่างประเทศ ระบบการผูกขาดการค้าโดยพระคลังสินค้า ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การค้าขายกับต่างประเทศดำเนินไปตามวิธีการผูกขาดการค้าโดยพระคลังสินค้า เสนาบดีกรมท่าจะมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการค้ากับต่างประเทศเหมือนสมัยอยุธยา

พระคลังสินค้าจะดำเนินนโยบายการค้าในรูปแบบการค้าผูกขาดของหลวง โดยพระคลังสินค้าจะออกประกาศบังคับว่า สินค้าบางอย่างให้ราษฏรนำมาขายให้กับพระคลังสินค้าเท่านั้น เมื่อเรือสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาเทียบท่า ทางเจ้าหน้าที่ของไทยจะไปตรวจเลือกซื้อสิ่งของที่ต้องการก่อน เมื่อรัฐบาลได้สิ่งของที่ต้องการเพียงพอแล้ว จึงยอมให้จำหน่ายแก่คนทั่วไป แต่ถ้าเป็นสินค้าประเภทอาวุธยุทธภัณฑ์ ซึ่งเป็นของจำเป็นต้องใช้ในราชการ เมื่อมีพ่อค้านำเข้ามา ไทยจะบังคับซื้อจากพ่อค้าในราคาต่ำกว่าปกติ

บรรดาสินค้าต่างๆ ที่มีราคาทั้งหลาย เช่น ฝาง ดีบุก ลูกกระวาน ตะกั่ว รง นอแรด งาช้าง พริกไทย กฤษณา เป็นต้น รัฐจะขึ้นบัญชีเป็นสินค้าของหลวง ผู้ใดมีไว้ในครอบครองจะต้องนำมาถวายพระเจ้าแผ่นดินตามราคาที่กำหนดไว้ ส่วนสินค้าต้องห้ามที่ชาวต่างประเทศนำเข้ามาจะถูกบังคับให้ขายกับพระคลังสินค้า ได้แก่ ปืน และดินปืน สินค้าชนิดอื่นๆ ถ้ารัฐบาลต้องการซื้อก็มีสิทธิซื้อก่อนผู้อื่น

สภาพการค้ากับต่างประเทศ ในตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 2 การค้าขายกับต่างประเทศเริ่มขยายตัวมากขึ้น เพราะพ่อค้าชาวตะวันตกเริ่มเข้ามาค้าขายกับไทย ในระยะนี้มีเรือสินค้าของไทยและต่างชาติผ่านไปมาค้าขายมากถึง 241 ลำ

ต่อมาในปลาย พ.ศ.2368 อังกฤษได้ส่ง เฮนรี่ เบอร์นี่ เข้ามาติดต่อทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้าขายกับไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 ไทยจึงได้ทำสัญญากับอังกฤษ ใน พ.ศ.2369 ในสัญญาฉบับนี้มีข้อความระบุว่า “พวกพ่อค้าต้องเสียภาษีการค้าขายตามประเพณีของสถานที่ แล้วจึงจะได้รับอนุญาตให้ซื้อและขายโดยไม่ได้รับการแทรกแซงจากผู้อื่น” บรรดาพ่อค้าต้องปฏิบัติตามกฏหมายไทย ห้ามนำข้าวเปลือก ข้าวสารออกนอกราชอาณาจักร ปืนและกระสุนที่นำเข้ามา จะต้องไม่ขายให้ผู้อื่นนอกจากรัฐบาล ถ้ารัฐบาลไม่ต้องการสินค้าเหล่านี้ พ่อค้าจะต้องนำกลับออกไป ส่วนสินค้าอื่นอนุญาตให้ซื้อขายได้

ทางด้านการส่งสินค้าออกไปขายยัง ต่างประเทศนั้น จำนวนสินค้าที่สงออกมีหลายชนิด แต่ที่สำคัญได้แก่ น้ำตาล พริกไทย ข้าว และดีบุก ในสมัยรัชกาลที่ 3 หลังจากการทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้ากับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาแล้ว พ่อค้าต่างประเทศเริ่มเข้ามาค้าขายในกรุงเทพมากขึ้น ทำให้สินค้าออกของไทยเป็นที่ต้องการของพ่อค้าชาวต่างประเทศเป็นอย่างมาก

ทางด้านการสั่งสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาใช้ในพระราชอาณาจักรนั้น ส่วนมากเป็นผ้าไหมจากจีน ผ้าเนื้อธรรมดาจากอินเดียและแถบมะละกา เครื่องลายคราม ชา ไหมดิบ ไหมสำเร็จรูป ฝ้ายชนิดต่างๆ ฝิ่นดิบ ทองแท่งและเงินแท่ง นอกจากนี้ยังเป็นประเภทอาวุธปืน เครื่องแก้ว และสินค้าประเภทฟุ่มเฟือยอีกหลายรายการ

กล่าวโดยสรุป สภาพเศรษฐกิจของไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เริ่มขยายตัวและเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 2 จนกระทั่งมาถึงรัชกาลที่ 3 เพราะระบบการค้าแบบผูกขาดโดยพระคลังสินค้า และการเข้ามาติดต่อค้าขายของชาวตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายหลังจากการทำสนธิสัญญาเบอร์นี่ระหว่างไทยกับอังกฤษ และติดตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา สำหรับการค้าขายกับจีนนั้น ยังคงดำเนินไปตามปกติ และยังคงเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายไทยเป็นอย่างมากด้วย

สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจในสมัยรัชกาลที่ 4

โรงกระษาปน์สิทธิการใน พ.ศ. 2405 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โรงกระษาปน์ผลิตเหรียญดีบุก เพื่อเป็นเครื่องแลกใช้แทนเบี้ยหอย และประกาศให้ใช้กะแปะอัฐ และโสฬสที่ทำขึ้นใหม่นี้ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2405 เหรียญดีบุกนี้ทำด้วยดีบุกดำผสมทองแดง ด้านหนึ่งมีตราช้างในวงจักร อีกด้านหนึ่งมีรูปพระมหามงกุฎกับฉัตร เหรียญดีบุกขนาดใหญ่เรียกว่า “อัฐ” มีราคา 8 อันต่อหนึ่งเฟื้อง สำหรับขนาดเล็กเรียกว่า “โสฬส” มีราคา 16 อันต่อหนึ่งเฟื้อง

เงินกระดาษหรือหมายเงินกระดาษหรือธนบัตร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น

สภาพเศรษฐกิจยุคปรับตัวเข้าสู่ความทันสมัยตามแบบตะวันตก (พ.ศ.2394-2475)

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยได้ตกลงทำสนธิสัญญาเบาริงกับอังกฤษในปี 2398 เป็นสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งด้านบวกและด้านลบอย่างมากมาย ดังนี้

1. สาระสำคัญของสนธิสัญญาเบาริง

  • อังกฤษมีสิทธิตั้งกงสุลคอยดูแลผลประโยชน์และตั้งศาลกงสุลเพื่อชำระความคนในบังคับของอังกฤษ
  • ให้สิทธิการค้าเสรีแก่คนในบังคับอังกฤษทั่วทุกเมืองท่าของไทย และอาจจะเช่าซื้อกรรมสิทธิ์ที่ดินในประเทศไทยได้ภายในเขต ไมล์จากกำแพงเมือง ถ้าเข้ามาอยู่ในเมืองไทยครบ 10 ปี
  • ยกเลิกการเก็บค่าระวางปากเรือ แต่กำหนดภาษีขาเข้าตามราคาสินค้าในอัตราร้อยละชัก 3 ส่วนภาษีขาออกให้เก็บเพียงครั้งเดียว
    ไม่เก็บภาษีฝิ่น แต่ต้องนำมาขายให้แก่เจ้าภาษีเท่านั้น และถ้าเจ้าภาษีไม่ซื้อต้องนำออกไป
  • รัฐบาลไทยมีสิทธิห้ามส่งข้าว เกลือ และปลาออกนอกประเทศได้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องแจ้งให้กงสุลทราบข่าวล่วงหน้าเป็นเวลา 1 เดือน
    ถ้าไทยทำสนธิสัญญายกประโยชน์ให้ชาติหนึ่งชาติใดในวันข้างหน้า ซึ่งนอกเหนือจากที่อังกฤษได้รับในครั้งนี้ อังกฤษจะต้องได้รับในครั้งต่อๆ ไปด้วย
    เมื่อสัญญาพ้นกำหนด 10 ปีแล้ว ฝ่ายไทย ฝ่ายอังกฤษ จะขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาได้ โดยบอกให้คู่สัญญารู้ล่วงหน้า 1 ปี

ภายหลังจากที่ไทยได้ทำสนธิสัญญาเบาริงกับอังกฤษใน พ.ศ.2398 ก็ได้มีประเทศต่างๆ ในภูมิภาคตะวันตกของโลก ส่งผู้แทนเข้ามาเจรจาเพื่อทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้ากับไทย โดยยึดแบบอย่างที่ไทยได้ทำกับอังกฤษ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงต้อนรับ และทรงยินดีที่จะติดต่อมีความสัมพันธ์ทางการฑูตและการค้ากับประเทศเหล่านั้น เป็นอย่างดี โดยทรงใช้ในสนธิสัญญาเบาริงเป็นแบบฉบับในการทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและ การค้ากับประเทศอื่นๆ ในเวลาต่อมา ได้มีการทำสัญญากับฝรั่งเศสในปี.2399 สหรัฐอเมริกาในปี 2399 เดนมาร์กในปี 2401 โปรตุเกส ในปี 2402 ฮอลันดาในปี 2403 ปรัสเซียปี 2405 สวีเดน และนอร์เวย์ในปี .2411 ตามลำดับ

2. สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจหลังเกิดสนธิสัญญาเบาริง  ผล จากการทำสนธิสัญญาเบาริง ทำให้ระบบเศรษฐกิจของไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในหลายด้าน ดังต่อไปนี้

  • ทำให้ไทยได้มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศอย่างกว้างขวาง
  • ก่อให้เกิดระบบการค้าเสรี และมีการเลิกการค้าแบบผูกขาดโดยพระคลังสินค้าในที่สุด ซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งเสริมการค้าของไทยให้ขยายตัวออกไป
  • เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในโครงสร้างสินค้าออกและสินค้าเข้า กล่าวคือ สินค้าเข้าแต่เดิมประกอบด้วยสินค้าฟุ่มเฟือยเพื่อการบริโภคของชนชั้นสูง ได้เปลี่ยนมาเป็นสินค้าหลายชนิดเพื่อการบริโภคของคนทั่วไป เช่น ผ้านุ่ง ผ้าฝ้าย เครื่องแก้ว ใบชา กระจก เป็นต้น ส่วนสินค้าออกในสมัยก่อน จะเป็นสินค้าหลายๆ ชนิด ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นสินค้าเพียงไม่กี่ชนิด เช่น ข้าว ไม้สัก ดีบุก เป็นต้น
  • การส่งออกข้าวได้ขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง เพราะระบบการค้าที่เปลี่ยนไป และความต้องการของตลาดโลกเพิ่มมากขึ้นด้วย หลัง พ.ศ.2398 เป็นต้นมา ชาวนาได้ขยายการผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้น ทำให้การปลูกพืชชนิดอื่นที่เลี้ยงตัวเองได้ เช่น อ้อย ฝ้าย และพืชที่จำเป็นในการครองชีพอื่นๆ ลดน้อยลง ผลผลิตที่เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนก็ลดลง จนบางครั้งถึงกับเลิกผลิต เพราะแรงงานส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในการผลิตข้าวแทน
  • ผลจากการขยายตัวในการผลิตข้าว ทำให้ชาวนาต้องขยายที่นาออกไปมากขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานเพิ่มขึ้นในการทำนา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความจำเป็น จึงทรงสนับสนุนด้วยการลดหย่อนการเกณฑ์แรงงานตามระบบไพร่ลง เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้เวลาในการทำนามากขึ้น ส่วนงานก่อสร้างของหลวงที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากก็โปรดฯ ให้จ้างคนจีนมาทำการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้คนไทยมีอิสระที่จะประกอบอาชีพของตนมากกว่าแตก่อน เพราะไม่ต้องกังวลกับการถูกเกณฑ์แรงงาน โดยอาจจะใช้วิธีจ่ายเงิน “ค่าราชการ” แทนการเกณฑ์แรงงานได้
  • การผลิตเงินตราโดยเครื่องจักร ภาย หลังการทำสนธิสัญญาเบาริงแล้ว ได้มีการค้าขายกันอย่างกว้างขวางโดยใช้เงินตราเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ด้วยเหตุนี้ระบบเงินตราจึงได้เริ่มมีบทบาทสำคัญต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมไทย จากการที่การค้าได้ขยายตัวอย่างกว้างขวาง ทำให้เงินตราที่ใช้หมุนเวียนภายในประเทศมีจำนวนไม่เพียงพอ เป็นผลให้พระคลังมหาสมบัติผลิตเงินได้ไม่ทันกับความต้องการ รัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงกษาปณ์ขึ้น ในปี 2403 และสั่งซื้อเครื่องจักรสำหรับผลิตเงินเหรียญกษาปณ์เพื่อใช้แทนเงินพดด้วย เดิมซึ่งผลิตด้วยมือ
  •  การส่งเสริมการทำนาของชาวนา ทางด้านการส่งเสริมการทำนาและการผลิตข้าวของชาวนานั้น รัชกาลที่ 4 ได้ทรงยกเว้นการเก็บภาษีที่ดินทำนา ซึ่งชาวนาได้บุกเบิกใหม่ในปี 2400 พระองค์ทรงประกาศว่า “จะไม่เก็บภาษีที่ดินบุกเบิกเพื่อใช้ทำนาปีแรก” และในอีก 2-3 ปีต่อมาจะเก็บภาษีแต่เพียงอย่างต่ำ นอกจากนี้ยังทรงส่งเสริมให้ขาวนาขยายเนื้อที่ทำนาให้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งได้มีการลดหย่อนการเกณฑ์คนทำงานหลวงอันเป็นประเพณีดั้งเดิมลง งดเว้นการเกณฑ์แรงงานในฤดูทำนา เพื่อให้ราษฏรมีเวลาที่ใช้ประกอบอาชีพทำนามากขึ้น
  •  การปรับปรุงภาษีอากร การ ทำสนธิสัญญาเบาริงเป็นความสำเร็จที่นำไปสู่การปฏิรูปครั้งใหญ่เกี่ยวกับกลไก การบริหารด้านการคลัง ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับระบบภาษีอากรทั้งมวล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตั้งภาษีอากรขึ้นมาใหม่ ได้แก่ ภาษีสุกร ภาษีปลาสด ภาษีปลาทู ภาษีไหม ภาษีขี้ผึ้ง อากรมหรสพ ภาษีผัก ภาษีฝิ่น เป็นต้น

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการแก้ไขระบบการเก็บภาษีอากรบางอย่าง เพื่อให้เป็นไปตามความเหมาะสม คือ ลดอัตราการเก็บเงินอากรบางประเภท นอกจากนี้ ก็ยกเลิกและเปลี่ยนภาษีอากรบางอย่างที่ทำให้ราษฏรเดือดร้อน เช่น ให้ยกเลิกภาษีเกวียน ภาษีเรือจ้าง และภาษีผัก ยกเลิกการประมูลภาษีพลู ยกเลิกภาษีผลมะพร้าว แต่ให้เก็บภาษีน้ำมันมะพร้าวแทน เป็นต้น

สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจสมัยรัชกาลที่ 5

การประปา

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยเริ่มต้นพัฒนาทางเศรษฐกิจขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เพราะเป็นผลมาจากการติดต่อกับต่างประเทศอย่างกว้างขวาง โดยปัจจัยที่เป็นแรงผลักดันให้มีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ มีดังต่อไปนี้

  1. การปรับตัวเข้าสู่ความทันสมัยตามแบบตะวันตก เพื่อให้รอดพ้นจากการคุกคามของชาติมหาอำนาจตะวันตกนั้น จำเป็นต้องอาศัยเงินทุนเป็นจำนวนมหาศาล มิฉะนั้นการปฏิรูปจะดำเนินต่อไปไม่ได้ ดังนั้นการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อให้รัฐมีรายได้เพียงพอต่อการปฏิรูปแผ่นดิน ครั้งใหญ่จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
  2. ปัญหาการคลังที่ล้าสมัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประสบอยู่ในขณะเสด็จขึ้นครองราชย์ จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว เพราะไม่สนองตอบต่อนโยบายปฏิรูปแผ่นดินในทุกๆ ด้าน เพราะรัฐมีรายได้ไม่เพียงพอ เนื่องจากระบบการคลังขาดประสิทธิภาพ รายได้ของรัฐมีทางรั่วไหลมาก ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงปฏิรูปเศรษฐกิจ อย่างเร่งด่วน ดังนี้

2.1 การปฏิรูปการคลัง ระบบการคลังเดิมนั้นไม่สามารถตรวจสอบและควบคุมการจัดเก็บรายได้และการใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงปฏิรูปการคลังดังต่อไปนี้

* จัดตั้งหอรัษฏากรพิพัฒน์ โดยมุ่งหมายจะให้เป็นสถานที่เก็บรวบรวมพระราชทรัพย์ ซึ่งขึ้นอยู่ตามท้องพระคลัง จึงเป็นก้าวแรกของการปฏิรูปทางด้านการคลัง เพราะเป็นการเริ่มต้นรวมงานการเก็บภาษีอากรมาไว้ที่หอรัษฏากรพิพัฒน์ เพื่อให้เก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพของเจ้าพนักงานและเจ้าภาษีนายอากร ตลอดจนวางระบบป้องกันการทุจริตของเจ้าพนักงาน เงินภาษีอากรทั้งหมดจะต้องถูกส่งไปเก็บไว้ในท้องพระคลังทั้งหมด ก่อนที่จะแจกจ่ายให้กรมกองต่างๆ ใช้ในกิจการของตน
* ประกาศใช้ พ.ร.บ.กรมพระคลังมหาสมบัติ ใน พ.ศ.2418 โดยจุดมุ่งหมายเพื่อจัดระเบียบราชการในกรมพระคลังมหาสมบัติให้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยกำหนดวิธีการส่งเงิน รับเงิน ตรวจเงิน และการจัดลำดับตำแหน่งข้าราชการรับผิดชอบงานในระดับต่างๆ ตลอดจนกำหนดระเบียบปฏิบัติของเจ้าภาษีนายอากร และผู้เกี่ยวข้องในการส่งเงินต่อพระคลังมหาสมบัติ
* โปรดให้จัดระเบียบการจัดทำงบประมาณขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความสำคัญของการจัดทำงบประมาณ รายรับและรายจ่ายในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการ ปฏิบัติราชการ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ เพราะแต่เดิมไม่มีการจัดทำงบประมาณรายรับรายจ่ายล่วงหน้า และต่อมาใน พ.ศ.2434 โปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบการจัดทำงบประมาณขึ้น เพื่อเป็นหลักในการจัดสรรเงินให้แก่กระทรวงต่างๆ ให้เป็นสัดส่วนกัน การจัดระเบียบการจัดทำงบประมาณดังกล่าว ทำให้รัฐบาลสามารถจัดพิมพ์งบประมาณรายรับรายจ่ายแผ่นดินขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.2444
* โปรดให้แยกพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการจัดระเบียบการคลังและจัดทำงบประมาณในครั้งนี้ ได้มีการแยกรายจ่ายส่วนพระองค์ออกจากรายจ่ายของแผ่นดินหรือรายจ่ายเพื่อ สาธารณะ และใน พ.ศ.2441 ได้มีการแยกพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ออกจากทรัพย์สินของแผ่นดิน แล้วมอบให้พระคลังข้างที่เป็นฝ่ายบริหารพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ต่อไป

2.2 การปฏิรูประบบเงินตรา เนื่องจากการค้าได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง รัชกาลที่ 5 จึงทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงระบบเงินตราให้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายที่ทันสมัย ดังเช่นที่ประเทศตะวันตกปฏิบัติกันอยู่ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการซื้อขายยิ่งขึ้น โดยมีการปฏิรูปเงินตราดังนี้

  • พ.ศ.2422 โปรดเกล้าฯให้สร้างหน่วยเงินที่เรียกว่า “สตางค์” ขึ้นใช้ โดยกำหนดให้ 100 สตางค์ เป็น 1 บาท พร้อมทั้งผลิตเหรียญสตางค์ขึ้น 4 ราคา คือ 20 สตางค์ 10 สตางค์ 5 สตางค์ และ 2 1/2 สตางค์ ใช้ปนกับเงินซีก เสี้ยว อัฐ ต่อมาในปลายรัชกาล โปรดให้ยกเลิกเงินเฟื้อง ซีก เสี้ยว อัฐ และโสฬส ซึ่งเป็นเงินตราแบบเดิม
  • พ.ศ.2445 โปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติธนบัตร ร.ศ.121 และจัดตั้งกรมธนบัตรขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการออกธนบัตรให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น
  •  สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรม หมื่นมหิศรราชหฤทัย ทรงดำริที่จะจัดตั้งธนาคารของคนไทยเพื่อสนับสนุนการค้าและเศรษฐกิจของคนไทย ให้ก้าวหน้าทัดเทียมกับชาวต่างประเทศ จึงได้ทรงเริ่มต้นด้วยการจัดตั้ง “บุคคลัภย์” (ฺBook Club) ขึ้นก่อน เมื่อ วันที่ 4 ตุลาคม 2447 และทดลองดำเนินกิจการภายในประเทศเท่านั้น ต่อมาเมื่อกิจการดำเนินไปด้วยดี และได้รับความเชื่อถือจากประชาชน จึงได้เปลี่ยนจาก “บุคคลัภย์”มาเป็นแบงค์ ใช้ชื่อว่า แบงก์สยามกัมมาจล มีนโยบายเช่นเดียวกับธนาคารต่างประเทศ นับเป็นธนาคารแห่งแรกของประเทศที่ตั้งขึ้นมาด้วยเงินทุนของคนไทย ต่อมาธนาคารนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน

2.3 การส่งเสริมการเกษตรและการผลิตเพื่อการส่งออก ภายหลังที่ประเทศไทยได้ทำสนธิสัญญาเบาริงกับอังกฤษและชาติตะวันตกอื่นๆ นับตั้งแต่ พ.ศ.2398 เป็นต้นมา ทำให้การผลิตทางการเกษตรซึ่งเคยผลิตเพื่อการยังชีพ ได้เปลี่ยนมาเป็นการผลิตเพื่อการค้า การเกษตรเริ่มมีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจด้านอื่นของประเทศอย่างแยกไม่ออก ด้วยเหตุนี้รัชกาลที่ 5 จีงได้ดำเนินการส่งเสริมการผลิตทางการเกษตร ดังนี้

  • ดำเนินการขุดคลอง สร้างทำนบ และประตูน้ำ เพื่อช่วยส่งน้ำให้เข้าถึงพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกข้าวได้ รัฐบาลได้อนุญาตให้บริษัทขุดคลองคูนาสยาม ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนเป็นผู้ที่ได้รับสัมปทานขุดคลองทั่วพระราชอาณาจักร มีกำหนด 25 ปี คือ ระหว่าง พ.ศ.2433 ถึง พ.ศ.2458 นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการใช้เครื่องจักรเครื่องยนต์ช่วยในการทำนา เช่น ใช้เครื่องจักร ใช้แรงไฟสำหรับไถนา นวดข้าว สีขาว และวิดน้ำเข้านา เป็นต้น ในการนี้รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนด้วยการให้รางวัลแก่บริษัทห้างร้านที่ ประดิษฐ์เครื่องจักรที่เหมาะสมกับความต้องการในการทำนา
  • ในตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ส่งเสริมการปลูกฝ้ายอย่างจริงจังให้กับราษฏร โดยจ้างผู้เชี่ยวชาญเรื่องฝ่ายจากต่างประเทศเข้ามาดำเนินการจัดตั้งสถานีทดลองและทำไร่ฝ้ายตัวอย่าง ตั้งโรงงานหีบฝ้าย แนะนำพันธ์ฝ้ายที่เหมาะสมกับภูมิประเทศและภูมิอากาศ เป็นต้น

2.4 การปรับปรุงการคมนาคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความสำคัญเรื่องการคมนาคมของประเทศ ซึ่งกำลังอยู่ในยุคปรับตัวเข้าสู่ความทันสมัย จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการปรับปรุงการคมนาคมให้เจริญก้าวหน้าทั้งทางบกและทางน้ำ ที่สำคัญได้แก่ การขุดคลอง การสร้างถนน และการสร้างทางรถไฟ

  • การขุดคลอง ในสมัยรัชกาลที่ 5 การขุดคลองมุ่งประโยชน์ด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดฯ ให้หน่วยราชการและเอกชนขุดคลองขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นเส้นทางคมนาคมระหว่างกรุงเทพ กับจังหวัดข้างเคียง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญ และเป็นเส้นทางลำเลียงข้าวออกสู่ตลาดต่างประเทศ เช่น คลองดำเนินสะดวก คลองเปรมประชากร คลองนครเฟื่องเขตร คลองประเวศบุรีรมย์ คลองทวีวัฒนา และคลองนราภิรมย์ นอกจากนั้นพระองค์ ยังโปรดฯ ให้เอกขุดคลอง เพื่อขยายพื้นที่ทำการเพาะปลูกออกไปแถบตำบลบางหลวง บางโพ แขวงเมืองปทุมธานี และบริเวณทุ่งหลวงตามโครงการรังสิตของบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะเปิดเนื้อที่ใหม่ๆ เพื่อใช้ในการทำนา
  • การสร้างถนน ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นประโยชน์ของการสร้างถนนและสะพานว่า จะทำให้การเดินทางไปไหนมีระยะสั้นลง และจะทำให้เกิดร่มเงาจากต้นไม้สองข้างถนน รวมทั้งทำให้บ้านเมืองงดงามอีกด้วย การสร้างถนนในสมัยนี้เป็นการสร้างตามแบบตะวันตก ภายหลังการสร้างถนนแล้วได้มีบรรดาพ่อค้าและชาวกรุงส่วนหนึ่งหันมาก่อสร้าง รานค้าและบ้านเรือนที่อยู่อาศัยตามริมถนนทำให้ที่ดินริมถนนมีราคาแพง ถนนที่สร้างขึ้นในสมัยนี้เช่น ถนนเยาวราช ถนนจักรวรรดิ ถนนอนุวงศ์ ถนนบูรพา ถนนสามเสน ถนนราชดำเนิน เป็นต้น
  • การสร้างทางรถไฟ ในด้านการสร้างทางรถไฟตามแบบตะวันตก มีการสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ กับหัวเมืองในส่วนภูมิภาคทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ แม้ว่าจุดมุ่งหมายในขั้นต้นจะทำเพื่อประโยชน์ทางด้านการปกครองและการรักษาความมั่นคง ปลอดภัยของพระราชอาณาจักรก็ตาม แต่การสร้างทางรถไฟก็มีผลต่อการส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจด้วย เพราะเมื่อมีเส้นทางคมนาคมทางรถไฟใช้แล้ว ปรากฏว่าข้าวและพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ที่ส่งเข้ามาขายยังตลาดในกรุงเทพฯ เพื่อใช้บริโภคภายในประเทศ และเพื่อการส่งออก ต่างมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ทางรถไฟที่สร้างขึ้น เช่น ทางรถไฟสายกรุงเทพ-นครราชสีมา ทางรถไฟสายเหนือ (ภายหลังระงับการก่อนสร้างทางรถไฟสายเหนือเอาไว้ก่อน เพราะประสบปัญหาเรื่องเงินทุน) ทางรถไฟสายใต้ นอกจากนี้ก็มีทางรถไฟสายกรุงเทพ-สมุทรปราการ กรุงเทพ-พระพุทธบาท, กรุงเทพ-มหาชัย-ท่าจีน-แม่กลอง สายบางพระและสายแปดริ้ว เป็นต้น
  • ผลของการปฏิรูปเศรษฐกิจในสมัยรัชกาลที่ 5 จากการปฏิรูปเศรษฐกิจในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งทางด้านการคลัง ระบบเงินตรา การสร้างเสริมการผลิตทางด้านการเกษตรและการคมนาคมขนส่ง ก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมหลายประการ คือ
  • ทำให้รายได้ของประเทศเพิ่มมากขึ้นจาก พ.ศ.2435-2447 เช่น รายได้เพิ่มจาก 15 ล้านบาท เป็น 46 ล้านบาท โดยมิได้เพิ่มอัตราภาษีและชนิดของภาษีขึ้นแต่ประการใด ทั้งยังมีการยกเลิกภาษีที่ล้าสมัยบางอย่างไปด้วย ทำให้เงินคงคลังของประเทศ ซึ่งเคยมีอยู่ประมาณ 7,500,000 บาท ใน พ.ศ. 2437 เพิ่มขึ้นเป็น 32,000,000 บาท ใน พ.ศ.2444
  • ก่อให้เกิดความมั่นคงต่อฐานะการคลังของประเทศ และการจัดระบบงบประมาณรับจ่ายเงินที่ได้มาตรฐาน ทำให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
  • ก่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยต่อบูรณภาพเขตแดนของพระราชอาณาจักรมากยิ่งขึ้น เพราะการปรับปรุงทางด้านคมนาคม นอกจากจะช่วยอำนวยประโยชน์ในทางเพิ่มรายได้จากการค้าขายและการส่งออกแล้ว ยังช่วยให้ทางรัฐบาลสามารถดูแลพระราชอาณาเขตได้รัดกุมมากยิ่งขึ้น

สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจระหว่าง พ.ศ.2453-2475

รัชกาลที่ 6 ทรงพยายามที่จะปรับปรุงทางด้านเศรษฐกิจให้ดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีปัญหาแทรกซ้อนเกิดขึ้น จนมีผลกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจโดยส่วนรวม ปัญหาเหล่านี้เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 จนถึงรัชกาลที่ 7 ถึงแม้ว่ารัชกาลที่ 7 จะพยายามแก้ไขอย่างเต็มพระสติกำลัง แต่สถานการณ์ดังกล่าวก็มิได้กระเตี้ยงขึ้น จนกลายเป็นเงื่อนไขทีก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในที่สุด

1. สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจโดยทั่วไป มีดังนี้

* การร่วมลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรม รัฐบาลในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ให้การช่วยเหลือและสนับสนุนการลงทุนจัดตั้งบริษัททำปูนซีเมนต์ของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ในปี 2456 ทำให้ประเทศไทยลดการสั่งเข้าปูนซีเมนต์จากต่างประเทศให้น้อยลงได้ นอกจากนั้นยังให้การสนับสนุนกิจการโรงไฟฟ้าสามเสน ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2454 และเริ่มส่งกระแสไฟฟ้าในปี 2457 ในปี 2461 ได้มีการจัดตั้งบริษัทพาณิชยนาวีสยาม ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือ และสนับสนุนทางด้านการเงินเช่นเดียวกัน
* การส่งเสริมด้านการเกษตร ในด้านการส่งเสริมการเกษตรนั้น ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ดำเนินการหลายประการ เช่น จัดตั้งกรมทดน้ำเพื่อจัดหาน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูก ส่งเสริมให้มีการขุดลอกคูคลอง เช่น ขุดคลองบางระแนะใหญ่ และคลองบางมด ในปี 2459 ขุดลอกคลองบ้านไทรและคลองวัดโพ ธนบุรี ในปี 2462 เป็นต้น ได้มีการจัดสถานีทดลองพันธ์ข้าวขึ้นที่คลอง 6 รังสิต ธัญญบุรี และจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรเป็นแห่งแรก ชื่อ “สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้” ที่อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ในปี 2459 และจัดตั้งสหกรณ์แห่งที่ 2 ที่ลพบุรี ใน ปี 2460
* การจัดตั้งสภาเผยแพร่พาณิชย์และกระทรวงพาณิชย์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีนโยบายแก้ไขปัญหา เศรษฐกิจด้วยการจัดตั้งกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ขึ้นในกระทรวงพระคลังมหา สมบัติ เมื่อพ.ศ.2457 มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆ สำหรับเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางด้านการค้า ราคาสินค้า ขนิดของสินค้าซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด แหล่งผลิตของสินค้านั้นๆ โดยการออกหนังสือเป็นรายเดือน
ในระยะแรกที่กรมพาณิขย์และสถิติพยากรณ์เริ่มดำเนินการนั้นได้มีหน้าที่สำคัญอยู่ 2 ประการ คือ ควบคุมดูแลบริษัทพาณิชย์นาวีสยาม และส่งเสริมด้านการพาณิชย์ของไทยให้แพร่หลายไปยังนานาประเทศ
* การตั้งสถาบันการเงิน พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำเริจัดตั้งสถาบันการ เงินขึ้นมา เพื่อฝึกฝนให้ประชาชนของชาติเห็นถึงความสำคัญของการออมทรัพย์ จึงได้มีกิจการ “ธนาคารออมสิน” เกิดขึ้น การตั้งธนาคารออมสินก็เพื่อป้องกันมิให้ชาวนาเอาเงินไปเล่นการพนัน และอีกประการหนึ่งก็เพื่อความสะดวกและช่วยเหลือชาวนาให้มีทุนรอนในการทำมาหา กิน เมื่อกิจการออมสินดำเนินมา เงินที่ราษฏรนำมาฝากไว้นับเป็นผลดีต่อรัฐบาลที่จะมีเงินทุนในการใช้จ่ายบ้าง แต่ก็มีจำนวนไม่มากนัก
* การเปลี่ยนแปลงมาตราชั่ง ตวง วัด  สาเหตุที่ทำให้รัฐบาลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการเปลี่ยนแปลงมาตราการชั่ง ตวง วัด เกิดขึ้นจากปัญหาที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อผลประโยชน์ของเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนา ทั้งนี้เพราะว่า โดยทั่วไปในชนบทเครื่องมือที่ใช้การชั่ง และตวงข้าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวเปลือก ซึ่งมีขนาดไม่เท่ากันในแต่ละท้องถิ่น ก่อให้เกิดปัญหาและขาดความแน่นอนในการชั่ง ตวง ที่ชาวนาต้องถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าที่เข้ามารับซื้อข้าว พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงประกาศใช้มาตราชั่ง ตวง วัด ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันตามแบบสากล โดยนำเอาระบบของฝรั่งเศสมาใช้แทนมาตราการชั่ง ตวง วัดตามแบบเก่าของไทย
* การสร้างทางรถไฟ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการสร้างทางรถไฟสายแปดริ้ว-ปราจีนบุรีขึ้น โดยเริ่มลงมือสร้าง ใน พ.ศ.2463 และเสร็จเรียบร้อยใน พ.ศ.2470
การสร้างทางรถไฟในเส้นทางดังกล่าว สามารถอำนวยประโยชน์ต่อประเทศชาติได้อย่างแท้จริง ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมืองการปกครอง ผลผลิตของภาคตะวันออกโดยเฉพาะข้าว โค กระบือจะถูกลำเลียงเข้ามากรุงเทพฯ เป็นมูลค่าต่อปีสูงมาก ในขณะเดียวกันฝ่ายบ้านเมืองก็ได้ประโยชน์ในการปกครองหัวเมืองให้ใกล้ชิดมาก ยิ่งขึ้น

2. ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจในช่วง พ.ศ.2453-2468
ถึงแม้ว่าจะได้มีการปรับปรุงและส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจด้วยวิธีการต่างๆ แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจทรุดโทรม เพราะความตกต่ำของรายได้และการขยายตัวของรายจ่ายซึ่งไม่สมดุลกัน

ในปี 2460 ได้เกิดอุทกภัยทั้งในประเทศไทย พม่า และอินโดจีนของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวที่ใหญ่ที่สุดของโลกทั้งสามประเทศ ทำให้กระทบกระเทือนการผลิตข้าวในประเทศไทย

ต่อมาในปี 2462 ได้เกิดฝนแล้งอย่างหนัก จึงก่อให้เกิดความเสียหายต่อการปลูกข้าว ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดขาดแคลนข้าวที่ใช้บริโภคภายในประเทศ และไม่มีปริมาณเหลือสำหรับส่งออกไปขายยังต่างประเทศ ยังทำให้ขาดแคลนเงินตราต่างประเทศอีกด้วย

รัฐบาลจึงต้องจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยเหลือชาวนา ข้าราชการและผู้ประสบกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมทั้งรายจ่ายอื่นๆ รัฐบาลต้องจ่ายมากกว่างบประมาณรายได้ถึง 4 ล้านบาท จึงทำให้งบประมาณปี 2463 ต้องขาดดุลเป็นปีแรกหลังจากที่ได้มีการเกินดุลตลอดระยะ 8 ปีที่ผ่านมา

นอกจากผลิตผลทางการเกษตรจะได้รับความเสียหายแล้ว รัฐบาลยังต้องสูญเสียรายได้จากภาษีอากรต่างๆ ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศยกเลิกไป เช่น อากรการพนัน โดยรัฐบาลยกเลิกการเก็บอากรบ่อนเบี้ยและหวย กข. ในช่วง 2459-2463 จึงทำให้รัฐบาลขาดรายได้จากส่วนนี้ไปปีละประมาณ 3,400,000 บาท

นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังได้ยกเลิก การสูบฝิ่นภายในประเทศตามข้อตกลงที่ให้ไว้กับนานาชาติในปี 2457 ทำให้รัฐบาลต้องยกเลิกการจัดเก็บภาษีฝิ่นไปโดยปริยาย ในช่วง 2465-2468 รัฐบาลจึงต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจและการคลังอย่างหนัก ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการปรับปรุงรายรับรายจ่ายให้เกิดความสมดุลกันโดยเร็ว

3. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจในช่วง พ.ศ.2468-2475
ผลจากปลายสมัยรัชกาลที่ 6 ที่สถานการณ์การคลังของประเทศตกอยู่ในภาวะเสื่อมโทรมอย่างหนัก เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ใน ปี 2468 พระองค์จึงอยู่ในฐานะที่ต้องแก้ไขสถานการณ์ทางการคลังอย่างเร่งด่วน ดังนั้นภายหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว พระองค์จึงทรงตั้งพระทัยที่จะแก้ไขปัญหาการเงินของประเทศ ให้รายจ่ายรายรับเข้าสู่ดุลยภาพอย่างเร่งด่วน

ในปี 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตัดทอนรายจ่ายในราชสำนัก เพื่อเป็นตัวอย่างแก่หน่วยราชการต่างๆ โดยโปรดฯ ให้ลดเงินงบประมาณรายจ่ายส่วนพระองค์จากเดิมปีละ 9 ล้านบาท เหลือปีละ 6 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีศุลกากรใหม่หลายอย่างหลังจากการแก้ไข สนธิสัญญาที่จำกัดอธิปไตยการคลังแล้ว ซึ่งพระบรมราโชบายดังกล่าว ทำให้สามารถจัดงบประมาณปี 2469 ให้เข้าสู่ดุลยภาพได้ โดยไม่ต้องตัดทอนรายจ่ายจากหน่วยราชการมากนัก

ในช่วงระยะเวลา 3 ปีแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงพยายามปรับปรุงประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป หลังจากที่หยุดชะงักมาเกือบตลอดสมัยรัชกาลที่ 6 การพัฒนาในรัชกาลที่ได้เน้นหนักไปทางด้านเกษตรและการศึกษา ซึ่งจะเป็นรากฐานแห่งความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

แต่เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะ ไม่กู้ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศเพื่อลดภาระการเสียดอกเบี้ย รวมทั้งการจำกัดการใช้จ่ายให้อยู่แต่เฉพาะกำลังเงินรายได้ภายในประเทศเท่า นั้น ทำให้สภาพเศรษฐกิจของประเทศตกอยู่ในภาวะชะงักงัน การที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเผชิญกับความผันผวนทางการเงินใน ขณะเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ดังกล่าว ได้สร้างความหนักพระทัยให้แก่พระองค์ท่านเป็นอย่างมาก พระองค์จึงมีพระบรมราโชบายที่จะตัดทอนรายจ่ายของรัฐบาล ลดจำนวนข้าราชการในกระทรวงต่างๆ ให้น้อยลง และพระองค์ทรงยินยอมที่จะลดรายได้ที่รัฐบาลถวายพระคลังข้างที่ให้น้อยลงจาก เดิม ทั้งนี้เพื่อจะได้เกิดความสมดุลในเรื่องรายรับรายจ่ายของรัฐบาล

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีพระราชปรารภว่าคนไทยควรจะเริ่มหางานอื่นทำ นอกจากจะยึดอาชีพราชการเหมือนที่เคยเป็นมา และถึงเวลาที่คนไทยจะต้องหันไปปรับปรุงการค้าและการอุตสาหกรรมให้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่รัฐบาลกำลังรอคอยเพื่อให้ภาวะเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นอยู่นั้น ปรากฏว่าได้มีเหตุการณ์ซ้ำเติมสภาพอันผันผวนทางการเงินของประเทศไทยให้เกิดภาวะวิกฤติมากขึ้นอีก คือ สภาพเศรษฐกิจของโลกที่เริ่มตกต่ำมาเป็ฯลำดับ ตั้งแต่2472 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และกลับทรุดหนักลงไปอีกในปี 2474 ประเทศไทยขณะนั้นประสบกับภาวะ “ข้าวยากหมากแพง”ประชาชนทั่วไปต่างพากันเดือดร้อนอย่างหนัก ภาวะเงินฝืดทั่วประเทศ

มาตรการสำคัญที่รัฐบาลพยายามนำมาใช้แก้ปัญหาคือ การตัดทอนรายจ่ายอย่างเข็มงวด โดยปลดข้าราชการออกจากตำแหน่งเป็นจำนวนมาก จัดการยุบมณฑลต่างๆ ทั่วประเทศ และงดจ่ายเบี้ยเลี้ยงข้าราชการและเบี้ยกันดาร

ในเดือนกันยายน 2475 รัฐบาลได้ประกาศออกจากมาตรฐานทองคำ และกำหนดค่าเงินตราตามปอนด์สเตอร์ลิง ในการจัดทำงบประมาณประจำปีเพื่อให้เข้าสู่ดุลยภาพ รัฐบาลได้มีนโยบายตัดทอนรายจ่ายอย่างเข้มงวดที่สุด แล้วออกพระราชบัญญัติเก็บภาษีอากรใหม่และต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2475 ก็ได้ขายทองคำทุนสำรองที่มีอยู่ทั้งหมด

ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2475 รัฐบาลได้ประกาศเพิ่มภาษีราษฏรโดยเฉพาะข้าราชการที่มีรายได้จากรัฐบาลประจำเดือน เรียกว่า “ภาษีเงินเดือน” โดยรัฐบาลได้ตัดทอนรายจ่ายลงเป็นอย่างมากที่สุดแล้วนั้น แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ฐานะการเงินของประเทศดีขึ้น

มาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ดังกล่าว ทำให้ราษฏรประสบความเดือดร้อนมากขึ้น ประกอบกับการขาดแคลนโรงงานอุตสาหกรรมภายในประเทศ ทำให้คนว่างงานเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นกิจการค้าทั้งหมดก็ตกอยู่ในกำมือของชาวต่างประเทศเกือบทั้งสิ้น ดังนั้น สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจในช่วงดังกล่าวจึงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศและกลาย เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ความพยายามของคณะราษฏรในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 คณะราษฏรได้พยายามที่จะปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ราษฏรส่วนใหญ่มากที่สุด จะเห็นได้จากหลัก 6 ประการของคณะราษฏร ซึ่งมีอยู่ข้อหนึ่งที่ระบุว่า “จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฏรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฏรทุกคนทำ รวมทั้งจะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ปล่อยให้ราษฏรอดอยาก”

คณะราษฏรได้มอบหมายให้หลวงประดิษฐ มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้ร่าง “เค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ” ให้คณะราษฏรพิจารณา แต่ภายหลังทีได้ร่างเสร็จแล้ว เค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม กลับได้รับการปฏิเสธจากรัฐบาลและสมาชิกของคณะราษฏรบางส่วน รวมทั้งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชวิจารณ์ในลักษณะที่ ไม่เห็นด้วย เพราะเค้าโครงเศรษฐกิจดังกล่าว เป็นการเปลี่ยนแปลงประเพณีเศรษฐกิจที่สังคมไทยเคยมีมา

เค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ประกอบด้วยข้อเสนอ 2 ส่วน คือ

1. การเปลี่ยนระบบกรรมสิทธิ์ คือ การเสนอให้โอนที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตทั้งหมดเป็นของรัฐ โดยรัฐให้ค่าตอบแทนแก่เจ้าของปัจจุบันในรูปพันธบัตรเงินกู้ และนอกจากนี้ให้โอนทุนและโรงงานอุตสาหกรรมเป็นของรัฐ โดยให้ค่าตอบแทนในลักษณะเดียวกัน หากเจ้าของทุนปรารถนาจะดำเนินการของตนเองต่อไป ก็ต้องพิสูจน์ว่า จะทำได้พอเลี้ยงชีวิตตนเองและครอบครัว ถ้าพิสูจน์ได้รัฐบาลจะอนุญาตเป็นรายๆ ไป ส่วนกิจการของต่างประเทศจะได้รับสัมปทานให้ดำเนินการชั่วเวลาหนึ่งเช่นเดียวกัน
2. การจัดพัฒนาการเศรษฐกิจ   เพื่อเพิ่มพลังการผลิตของประเทศ เพื่อปฏิบัติการให้บรรลุเป้าหมายนี้รัฐจะเป็นผู้วางแผนเศรษฐกิจ และควบคุมการใช้ทุนอันเป็นปัจจัยหลักในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคุมให้มีการมีการลงทุนในกิจการที่เป็นประโยชน์ระยะยาวแก่ประเทศอย่างแท้จริง
ในการปฏิบัติงานให้บรรลุตามแผน จะมุ่งให้หน่วยงานสหกรณ์เป็นผู้ร่วมกระทำด้วย เพื่อที่จะดูแลกิจการต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง โดยให้รัฐจัดสหกรณ์แบบเต็มรูป ซึ่งโครงการเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าระบบเศรษฐกิจ เป็นการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจทั้งการเกษตรและอุตสาหกรรมอย่างมีแผน มุ่งกระจายรายได้และทรัพย์สินในระบบให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น แต่จะไม่มีการริบทรัพย์สิน จะใช้วิธีการซื้อที่ดินและโรงงานด้วยพันธบัตร ขณะเดียวกันก็ยังมีนายทุนทีได้รับสัมปทานดำเนินธุรกิจอยู่ด้วย

ความพยายามที่จะแสวงหาแนวทางใหม่ใน การพัฒนาเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้รับการต่อต้านจนต้องเลิกล้มแผนการดังกล่าว เพราะแม้แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเขียนบันทึกพระบรมราช วินิจฉัยคัดค้าน โดยพระองค์ก็ทรงเห็นว่าเค้าโครงเศรษฐกิจดังกล่าวจะทำลายเสรีภาพของราษฏร

เค้าโครงเศรษฐกิจผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2476 แต่ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มีนาคมในปีเดียวกันนั่นเอง เค้าโครงเศรษฐกิจก็ถูกยับยั้งด้วยคะแนนเสียง 11 ต่อ 3 ไม่ออกเสียง 5 คะแนน ในที่สุดเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรมก็ต้องระงับไช้

พัฒนาการทางเศรษฐกิจโดยการนำของรัฐในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม

1. การเสริมสร้างเศรษฐกิจตามระบบทุนนิยม
ภายหลังจากที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้นำรัฐบาลใน พ.ศ.2481-2487 ความพยายามที่จะสร้างชาติให้เป็นมหาอำนาจตามนโยบายของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก่อให้เกิดความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นต้นความคิด

ระบบเศรษฐกิจดังกล่าวมีลักษณะเป็นทุนนิยมโดยการนำของรัฐ คือสนับสนุนบรรดานายทุนน้อย ข้าราชการ พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย และชาวนาผู้ร่ำรวยเป็นอันดับแรก แต่มิได้ขัดขวางการขยายตัวของนายทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของชาติ ซึ่งหมายถึง ระบบราชการที่สั่งการโดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม

รัฐต้องซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมเป็นครั้งคราว และรัฐต้องขายที่ดินเหล่านั้นให้แก่ชาวนา คนไทยทุกคนจะต้องมีที่ดินไว้เป็นกรรมสิทธิ์ตามควรแก่อัตภาพ ชนชั้นกลางขนาดย่อยจะต้องรวมตัวกันในการผลิตและการค้าในรูปสหกรณ์ โดยต่างฝ่ายยังคงเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ดังนั้น ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโดยการนำของรัฐก็คือเศรษฐกิจแบบชาตินิยมนั้นเอง

กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามในช่วง พ.ศ.2481-2487 มีลักษณะสำคัญคือ รัฐเข้าร่วมในการลงทุนเป็นรัฐวิสาหกิจ สนับสนุนให้ต่างชาติเข้าลงทุนได้ โดยรัฐบาลให้การส่งเสริมและร่วมมือในการลงทุน

2. ความเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาชนประสบกับความเดือดร้อนอย่างหนัก จากการขาดแคลนข้าวบริโภค ซึ่งเป็นผลมาจากอุทกภัย ใน ปี 2485 ทำให้พื้นที่เพาะปลูกเสียหายหมด นอกจากนั้น ข้าวที่ผลิตได้ต้องถูกญี่ปุ่นบังคับซื้อเพื่อนำไปเลี้ยงทหารญี่ปุ่นทั้งที่อยู่ภายในและนอกประเทศ

ต่อมาในวันที่ 1 มกราคม 2489 ไทยต้องทำข้อตกลงสมบูรณ์แบบกับอังกฤษในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งตามสัญญาไทยต้องส่งข้าวเป็นจำนวน 1 ล้าน 5 แสนตันให้กับอังกฤษ โดยไม่คิดมูลค่า ทำให้เกิดการขาดแคลนข้าวภายในประเทศ และมีการลักลอบนำข้าวไปขายต่างประเทศ เพราะได้ราคาสูงกว่าภายในประเทศ

นอกจากนี้ผลของสงครามทำให้เศรษฐกิจของไทยตกต่ำ เกิดภาวะเงินเฟ้อ ค่าของเงินลดลง สินค้ามีราคาแพง ประชาชนได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งขาดเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เช่น เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น

การเกิดภาวะเงินเฟ้อ ค่าของเงินตกต่ำและราคาสินค้าสูงขึ้น เป็นผลมาจากการพิมพ์ธนบัตรออกใช้โดยมีปริมาณเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เนื่องจากการใช้เงินของคนญี่ปุ่นที่เข้ามาประเทศไทยในระหว่างสงคราม งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลสูงกว่ารายรับทุกปี นอกจากนี้ไทยยังขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ เพราะตาม “ข้อตกลงสมบูรณ์แบบ”ที่ไทยทำกับอังกฤษหลังสงคราม ได้ห้ามไทยส่งสินค้าออกที่สำคัญ คือ ดีบุก ยางพารา ไม้สัก ซุง ไปขายนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจากองค์การระหว่างประเทศที่จะระบุไว้ในสัญญาเสีย ก่อน ทำให้ประเทศไทยขาดแคลนเงินตราต่างประเทศสำหรับซื้อสินค้าเพื่อบรรเทาความขาด แคลนภายในประเทศที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

รัฐบาลพยายามจะแก้ไขปัญหา เช่น ตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ได้ประกาศเก็บธนบัตรในละพันบาทเข้าคลัง อนุญาตให้เปิดบ่อนการพนันชั่วคราว เพื่อจะได้เก็บธรรมเนียม และภายหลังสงคราม รัฐบาลนายปรีดี พนมยงศ์ ได้กู้เงินจากสหรัฐอเมริกา 10 ล้านดอลล่าร์ จากอินเดีย 50 ล้านรูปี ตลอดจนรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้ทำการขายทองคำทั้งในประเทศและนอกประเทศ แต่ปัญหาเศรษฐกิจก็ยังไม่ดีขึ้น

3. ผลกระทบทางเศรษฐกิจอันสืบเนื่องมาจากนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ของไทยในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม (ช่วง 2491-2500)
ภายหลังการรัฐประหาร ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 และจอมพล ป.พิบูลสงครามได้กลับคืนสู่อำนาจทางการเมือง ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในปี  2491 การเมืองระหว่างประเทศเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เพราะจีนได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ในปี 2492 สหรัฐอเมริกาเกรงว่าลัทธิคอมมิวนิสต์จะมีอิทธิพลครอบงำเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และถ้าอินโดจีนต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของคอมมิวนิสต์ ย่อมจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของอเมริกา อเมริกาจึงเร่ง ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อต่อต้านการขยายตัวของคอมมิวนิสต์

ในปี 2493 สหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือประเทศไทย ด้วยการทำสัญญาความตกลงว่าด้วยความช่วยเหลือทางทหาร และความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและทางเทคนิค ซึ่งสหรัฐอเมริกาเชื่อว่าการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจนั้น จะสามารถสกัดกั้นการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ได้ สหรัฐอเมริกาจึงมีจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระวห่างประเทศในรูปแบบการค้าเสรี ซึ่งนโยบายดังกล่าวทำให้สหรัฐอเมริกาได้เข้ามาเกี่ยวข้องทางด้านเศรษฐกิจกับประเทศไทยอย่างใกล้ชิด

ขณะเดียวกันนายทุนพาณิชย์ที่เป็นคนจีน ได้รวมตัวกันเป็นสมาคมเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของตน เช่น สมาคมพ่อค้าเพชรพลอย สมาคมพ่อค้าสุรา สมาคมธุรกิจการโรงแรมและการท่องเที่ยว สมาคมพ่อค้าขายส่งน้ำแข็ง สมาคมพ่อค้ากาแฟ สมาคมพ่อค้ายาสูบ เป็นต้น

บรรดาพวกนายทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนทำธุรกิจต่าง ๆในเมืองไทยอย่างเป็นล่ำเป็นสันก็จะมีหอการค้าของตน เช่น หอการค้าอเมริกัน อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น และอินเดีย เป็นต้น

การที่รัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ส่งเสริมให้มีการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน เป็นเพราะประเทศไทยในสมัยนี้ได้มีนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ ดังนั้น การหวังพึ่งประเทศตะวันตกที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์และมีศักยภาพทางเศรษฐกิจและ การทหารที่เข็มแข็ง ย่อมเป็นผลดีต่อประเทศไทยทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้การเปิดโอกาสให้ประเทศเหล่านี้เข้ามาลงทุนก็เท่ากับเป็นการเปิด สัมพันธภาพที่ดีต่อประเทศเหล่านี้

รัฐบาลในยุคนั้นได้ออกกฏหมายสงวนอาชีพให้กับคนไทย โดยรัฐบาลเข้าควบคุมกิจการบางชนิด เช่น ธุรกิจการขนส่งทางน้ำ การจำหน่ายสุรา ประกาศให้กิจการช่างตัดผมเป็นอาชีพของคนไทย และกิจการโรงเลื่อยมีข้อกำหนดว่าจะต้องมีหุ้นเป็นคนไทย 75 เปอร์เซ็นต์

รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องการให้นายทุนทั้งหลายรวมตัวกันเป็นปึกแผ่นเพื่อให้มีพลังต่อรองกับต่าง ประเทศ และเพื่อให้กลุ่มพ่อค้านายทุนที่รวมตัวกันนั้น สนับสนุนนโยบายของรัฐบาล คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2497 ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อดำเนินการจัดตั้งสภาการค้าขึ้น ให้เป็นศูนย์กลางของนักธุรกิจทุกชาติในประเทศไทย ทั้งผู้นำการส่งออก ประกอบการผลิต การอุตสาหกรรม การธนาคาร การประกันภัย การขนส่งและการค้าอื่นๆ โดยกำหนดให้ทำหน้าที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการดำเนินการส่งเสริมการค้า และจัดระเบียบการค้า ตลอดจนทำหน้าที่ประสานการระหว่างรัฐบาลกับผู้ประกอบธุรกิจการค้า

รัฐบาลได้จัดตั้งบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งประเทศไทย ในปี 2495 ทำการผูกขาดการค้าน้ำตาล จัดตั้งบริษัทส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งชาติ ในปี 2497 เพื่อดำเนินธุรกิจการค้า กองทัพบกได้จัดตั้งโรงงานทอผ้า ใช้เครื่องจักรโรงงาน 2 แห่ง เมื่อ พ.ศ.2493 บริษัทเชลล์และเอสโซได้ซื้อกิจการโรงกลั่นมูลค่า 8 ล้านบาท แลเช่าที่ที่ช่องนนทรี 600 ไร่ สัญญาเช่า 30 ปี ฯลฯ ซึ่งแสดงให้เห็นตัวอย่างของทุนนิยมในประเทศไทยในช่วง 2491-2500

สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ภาย หลังที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในปี 2501 แล้วก็มีเจตนาอันแน่วแน่ที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของชาติให้เจริญรุ่งเรือง ตามแบบอย่างประเทศตะวันตก จึงได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรม โดยการตราพระราชบัญญัติ 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม พ.ศ.2503 และ พ.ศ.2505 และพระราชบัญญัติงดหรือลดอากรขาเข้าให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่ได้รับการ ส่งเสริม พ.ศ.2503 และ พ.ศ.2504

นอกจากจะมีการตั้งสภาพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว ใน พ.ศ.2504 รัฐบาลได้ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504-2509) และพัฒนาพัฒนาเศรษฐกิจเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินี้ จะมีสืบเนื่องกันต่อมาถึงปัจจุบัน แต่ละฉบับมีสาระสำคัญดังนี้

1. แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504-2509) มีวัตถุประสงค์หลักคือ

* มุ่งเน้นการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ โดยการส่งเสริมการลงทุนในสิ่งก่อสร้างขั้นพื้นฐาน
* พัฒนาอุตสาหกรรมและสนับสนุนให้เอกชนประกอบธุรกิจอย่างเต็มที่
* เน้นการเพิ่มรายได้ประชาชาติ แต่ไม่เน้นการกระจายรายได้

2. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ.2510-2514) มีวัตถุประสงค์หลักคือ

* เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในด้านสาธารณูปโภค
* รวมการพัฒนาในด้านรัฐวิสาหกิจและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเข้าไว้ด้วยกัน
* เน้นการพัฒนาสังคม การพัฒนากำลังคน ความสำคัญของภาคเอกชน
* การพัฒนาส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น

3. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3 (พ.ศ.2514-2519) มีวัตถุประสงค์หลักคือ

* เพื่อส่งเสริมการลงทุน และพัฒนาอุตสาหกรรม
* สนับสนุนบทบาททางเศรษฐกิจของเอกชนและคนไทยตามระบบเศรษฐกิจ
* สนับสนุนการกระจายรายได้ให้ทั่วถึง
* ส่งเสริมการศึกษาและการฝึกอาชีพ
* สนับสนุนให้เพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประเภทที่ต้องใช้คนงานจำนวนมาก เพื่อป้องกันปัญหาการว่างาน

4. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 (พ.ศ.2520-2524) มีวัตถุประสงค์หลักคือ

* เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในช่วง พ.ศ.2520 และ พ.ศ.2521
* เพื่อลดช่วงว่างทางด้านฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมในหมู่ประชาชนให้ลดน้อยลง
* เพื่อลดอัตราเพิ่มและปรับปรุงคุณภาพของประชากร ตลอดทั้งการเพิ่มการว่างงานในประเทศ
* เพื่อเร่งบูรณะและปรับปรุงการบริหารทรัพยากรหลัก ตลอดจนสิ่งแวดล้อมของชาติ
* เพื่อสนับสนุนขีดความสามารถในการป้องกันประเทศและแก้ไขปัญหาในบางพื้นที่เพื่อความมั่นคง

5. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 (พ.ศ.2525-2529) มีวัตถุประสงค์หลักคือ

* เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและการเงินของประเทศให้มั่นคง
* เพื่อปรับปรุงโครงสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ
* เพื่อพัฒนาโครงสร้างและกระจายบริการทางสังคม
* เพื่อประสานการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศให้สอดคล้องกัน และสนับสนุนซึ่งกันและกัน
* เพื่อปฏิรูประบบการบริหารงานพัฒนาของรัฐและกระจายสินทรัพย์ทางเศรษฐกิจ

6. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 (พ.ศ.2530-3534) มีวัตถุประสงค์หลักดังนี้

* จะต้องรักษาระดับการขยายตัวทาง เศรษฐกิจไม่ให้ต่ำกว่าร้อยละ 5 เพื่อรองรับกำลังแรงงานใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาด เพื่อจะเน้นการขยายตัวที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ในระยะของแผนฉบับที่ 5
* มุ่งพัฒนาคุณภาพคนให้สามารถพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้าพร้อมกับการธำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชาติ วัฒนธรรม และค่านิยมอันดี และเป็นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของคนในชนบทและในเมืองให้ได้ตามเกณฑ์ตามความจำเป็นพื้นฐาน

ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่ง ชาติฉบับที่ 5-6 การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี (พ.ศ.2527-2531)และในสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณเป็นนายกรัฐมนตรี (พ.ศ.2531-2534) ดำเนินไปอยางต่อเนื่อง ในยุคของพลเอกเปรม เป็นยุคแห่งการสร้างวินัยทางการเงินและการคลังเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการ คลังของประเทศ จนเกิดผลดีต่อรัฐบาลพลเอกชาติชาย ที่จะพยายามดำเนินนโยบายขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง

รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เข้ามาบริหารประเทศเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2523 ได้ดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ

* ดำเนินนโยบายทางการเงินและการคลังที่เข้มงวดมาก เพื่อลดการขยายตัวของการใช้จ่ายในประเทศ เพื่อป้องกันการขาดดุลการค้าและชะลอการเพิ่มของระดับราคาสินค้าในประเทศ
* ปรับราคาน้ำมันในประเทศให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของราคาในตลาดโลก เพื่อลดการอุดหนุนและความช่วยเหลือจากรัฐบาลและส่งเสริมการประหยัดการใช้พลังงาน และลดการนำเข้า
* ลดค่าเงินบาท เพื่อแก้ปัญหาทางด้านการขาดดุลการค้า
* ปรับปรุงภาษีศุลกากรรวมทั้งการส่งออก เพื่อกระตุ้นการส่งและเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิตสินค้าภายในประเทศ
* เร่งนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อลดภาระทางด้านการคลังของรัฐบาล และสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในส่วนของการประสานนโยบายเศรษฐกิจกับธุรกิจ

ผลจากการดำเนินนโยบายดังกล่าว มีผลทำให้การขยายตัวในการลงทุนชะลอตัวลง การลงทุนของภาคเอกชนซบเซา เนื่องมาจากอัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นตามความเข็มงวดของนโยบายการเงิน

พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงของการขยายตัวสูง และมีเสถียรภาพเต็มที่ รวมทั้งในสายตาของชาวต่างประเทศก็มองว่าเสถียรภาพทางการเมืองของไทยจะมั่นคง เศรษฐกิจของโลกทั่วไปยังคงมีบรรยากาศที่ดี ส่งผลทำให้เศรษฐกิจของไทยขยายตัวได้อย่างรวดเร็วและอยู่ในระดับสูง ทั้งทางด้านการลงทุน การอุตสาหกรรม การก่อสร้างและการส่งออก

รัฐบาลได้ทำการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และเร่งพัฒนาประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจ เร่งพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการเงิน และศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาค โดยมีนโยบายหลัก 4 ประการ คือ

* เพื่อประสิทธิภาพของการจัดสรรทรัพยากรภายในประเทศโดยดำเนินนโยบายการค้าเสรีและผ่อนคลายการควบคุมระบบการเงิน เพื่อเป็นการลดการเข้าแทรกแซงของรัฐบาล และให้กลไกตลาดเข้ามามีบทบาทในการจัดสรรทรัพยากรมากขึ้น
* เน้นความสำคัญในการสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน โดยพยายามชักชวนให้นักธุรกิจชาวต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น
* พัฒนาประเทศไทยให้เข้าไปมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและในทวีปเอเซีย

ผลของการดำเนินนโยบายดังกล่าว ทำให้เศรษฐกิจและการลงทุนได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง และมีทีท่าก้าวไปสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NICs) ได้ในอนาคตอันใกล้ ถ้าไม่เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย และการรัฐประหารในประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 เนื่องจากสงครามและการรัฐประหารดังกล่าวทำให้เกิดภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจและการลงทุน เพราะนักธุรกิจไม่แน่ใจในสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นนั้นเอง

การเกิดสงครามในอ่าวเปอร์เซียใน พ.ศ.2532 และการรัฐประหารในประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ทำให้การลงทุนในประเทศไทยต้องหยุดชะงัก และมีผลทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศอยู่ในภาวะตกต่ำอย่างรุนแรง ภายหลังการรัฐประหาร รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ได้พยายามสร้างภาพพจน์ให้ต่างประเทศเข้าใจประเทศไทย และกลับมาลงทุนเหมือนอย่างเดิม ก็พอจะด้ผลเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะต่างประเทศยังไม่แน่ใจในสถานการณ์การเมืองในอนาคต

ภายหลังที่ได้มีการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาทหารบก เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เกิดสถานการณ์วุ่นวายทางการเมือง จนกระทั่งนำไปสู่การสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตของประชาชนส่วนหนึ่ง ทำให้พลเอกสุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนายอานันท์ ปันยารชุนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งเพื่อทำให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 13 กันยายน 2535 ต่างประเทศเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้นว่า นายอานันท์ ปันยารชุน จะนำประชาธิปไตยมาสู่ประเทศไทยได้ ทำให้การคาดหวังผลทางเศรษฐกิจเป็นไปในทางที่ดีมากขึ้น

7. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 (พ.ศ.2535-2539) มีวัตถุประสงค์หลัก ดังนี้

* การรักษาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องออกไปอย่างมีประสิทธิภาพ
* การกระจายรายได้ให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น
* การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปให้ดีขึ้น

8. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540-2544) มีวัตถุประสงค์หลัก ดังนี้

* เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของคนทุกคนทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาให้มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง มีความรู้ความสามารถและทักษะในการประกอบอาชีพ และสามารถปรับตัวให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการปกครอง
* เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมของสังคมให้มีความมั่นคงและเสริมสร้างความเข็มแข็งของครอบครัวและชุมชน ให้สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคน รวมทั้งให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศให้มากยิ่งขึ้น
* เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ มั่นคง และสมดุล เสริมสร้างโอกาสการพัฒนาศักยภาพของคนในการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาและได้รับผลจากการพัฒนาที่เป็นธรรม
* เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีความสมบูรณ์ สามารถสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืน
* เพื่อปรับระบบบริหารจัดการ เปิดโอกาสให้องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเอกชน ชุมชน และประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศมากขึ้น

9. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549)

เป็นแผนซึ่งได้อัญเชิญแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว มาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาและบริหารประเทศ โดยยึดหลัก ทางสายกลาง เพื่อให้ประเทศรอดพ้นจากวิกฤต สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง และนำไป สู่การพัฒนาที่สมดุล มีคุณภาพและยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และสถานการณ์เปลี่ยนแปลงต่างๆ

วัตถุประสงค์

* เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพและมีภูมิคุ้มกัน สร้างความเข้มแข็งของภาคการเงิน ความมั่นคงและเสถียรภาพของฐานะการคลัง ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้เศรษฐกิจระดับฐานรากมีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้น ตลอดจนเพิ่มสมรรถนะของระบบเศรษฐกิจโดยรวมให้สามารถแข่งขันได้และก้าวทันเศรษฐกิจยุคใหม่
* เพื่อวางรากฐานการพัฒนาประเทศให้เข้มแข็ง ยั่งยืน สามารถพึ่ง ตนเองได้อย่างรู้เท่าทันโลก โดยการพัฒนาคุณภาพคน ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูประบบสุขภาพ สร้างระบบคุ้มครองความมั่นคงทางสังคม รวมทั้งการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและเครือข่ายชุมชน ให้เกิดการเชื่อมโยงการพัฒนาชนบทและเมืองอย่างยั่งยืน มีการดูแลจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสังคมไทย
* เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่ดีในสังคมไทยทุกระดับ เป็นพื้นฐานให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ เน้นการปฏิรูประบบบริหารจัดการภาครัฐ การบริหารจัดการที่ดีของภาคธุรกิจเอกชน การมี ส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการพัฒนา การสร้างระบบการเมืองที่รับผิดชอบต่อสังคม และลดการทุจริตประพฤติมิชอบ
* เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและเพิ่มศักยภาพและโอกาสของคนไทยในการพึ่งพาตนเอง ให้ได้รับโอกาสในการศึกษาและบริการทางสังคมอย่างเป็นธรรมและ ทั่วถึง สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้ชุมชนและประชาชนมี ส่วนร่วมในการพัฒนาและปรับกลไกภาครัฐให้เอื้อต่อการแก้ปัญหา

การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันของสังคมไทยใน 20 ปีข้างหน้า โดยนำความคิดของทุกภาคส่วนในสังคมทุกระดับ มาสเชื่อมโยงเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบให้เกิดเป็น “วิสัยทัศน์ร่วม” ที่สังคมไทยยอมรับร่วมกัน โดยคำนึงถึงภาพรวมการพัฒนาที่ผ่านมา สถานการณ์และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อนำไปสู่สังคมไทยที่พึงประสงค์ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและสร้าง คุณค่าที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

แผนพัฒนาฯ ฉบับที่9 จึงเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่ชี้กรอบทิศทางการพัฒนาประเทศ ในระยะปานกลาง ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ระยะยาว และมีการดำเนินการต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ในด้านแนวคิดที่ยึด “คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา” ในทุกมิติอย่างเป็นองค์รวม และให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่สมดุล ทั้งด้านตัวคน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างระบบบริหารจัดการภายในที่ดีให้เกิดขึ้นในทุกระดับ อันจะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มี “คน” เป็นศูนย์กลางได้อย่างแท้จริง

จากการประเมินผลการพัฒนาในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการพัฒนาที่ขาดสมดุล โดยประสบความสำเร็จเฉพาะในเชิงปริมาณ แต่ขาดความสมดุลด้านคุณภาพ “จุดอ่อน” ของการพัฒนาที่สำคัญ คือ ระบบบริหารทางเศรษฐกิจ การเมือง และราชการยังเป็นการรวมศูนย์อำนาจและขาดประสิทธิภาพ ระบบกฎหมายล้าสมัย นำไปสู่ปัญหาเรื้อรังของประเทศ คือ การทุจริตประพฤติมิชอบที่เกิดขึ้นทั้งในภาคราชการและในภาคธุรกิจ เอกชน ขณะเดียวกันคุณภาพการศึกษาของคนไทยยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ไม่สามารถปรับตัว รู้เท่าทันวิทยาการสมัยใหม่ ทั้งฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยอ่อนแอ ไม่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม รวมทั้งความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจยังด้อยประสิทธิภาพ จึงส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ ความยากจน และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่รุนแรงขึ้น ได้สร้างความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น นอกจากนี้ความอ่อนแอของสังคมไทยที่ ตกอยู่ในกระแสวัตถุนิยม ได้ก่อให้เกิดปัญหาทางศีลธรรมและปัญหาสังคมมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดทุนทางสังคมและทางเศรษฐกิจหลายประการ ซึ่งเป็น “จุดแข็ง” ของประเทศที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนา กล่าวคือ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้วางพื้นฐานให้เกิดการปฏิรูปที่สำคัญทั้งทางสังคม การเมือง การบริหารภาครัฐ และการกระจายอำนาจ ขณะที่กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและพลังท้องถิ่นชุมชนมีความเข้มแข็งมาก ขึ้น สื่อต่างๆ มีเสรีภาพมากขึ้น เอื้อต่อการเติบโตของประชาธิปไตย การป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบและการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในสังคมไทย ทั้งจุดแข็งของฐานการผลิตการเกษตรที่หลากหลาย มีศักยภาพเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก พร้อมทั้งมีธุรกิจบริการที่มีความเชี่ยวชาญ มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ และมี เอกลักษณ์ความเป็นไทยมีวัฒนธรรมที่เป็นจุดเด่น รวมทั้งมีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สั่งสมเป็น ปึกแผ่นและมีสถาบันหลักยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ซึ่งจะช่วยเป็นภูมิคุ้มกันที่สำคัญในการลดความเสี่ยงจากกระแสโลกาภิวัตน์

ขณะเดียวกันกระแสการเปลี่ยนแปลงหลักของโลกเป็นทั้ง “โอกาสและภัยคุกคาม” ต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงสลับซับซ้อนและเชื่อมโยงกันมากขึ้น มีการปรับระเบียบเศรษฐกิจใหม่ของโลกที่นำไปสู่กติกาการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศใหม่ และแนวโน้มการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคีที่มีอิทธิพลเพิ่มขึ้น รวมทั้งแนวโน้มการพัฒนาสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ที่มีเทคโนโลยีและการใช้ความรู้เป็นฐานการพัฒนา ทำให้ต้องเร่งเตรียมพร้อมทั้งการสร้างระบบ กลไก และพัฒนาคนให้สามารถปรับตัวอย่างรู้เท่าทันได้รวดเร็ว เพื่อคงสถานะการแข่งขันของประเทศและก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ได้อย่างเท่าทันโลกได้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบางและมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวต่อเนื่อง และคาดว่าจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่ประมาณการไว้เดิม จะส่งผลต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยซึ่งต้องปรับตัวให้ทัน ทั้งการเริ่มปรับฐานเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับฐานรากถึงระดับมหภาค และการปรับนโยบายเศรษฐกิจของประเทศที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ภายใต้สถานการณ์และแนวโน้มในอนาคต ที่จะมีผลต่อการพัฒนาประเทศดังกล่าว แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 จึงเป็นแผนที่ดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของประเทศ ที่จำเป็นต้องเร่งรัดการปฏิรูประบบเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดสัมฤทธิ์ผลในทาง ปฏิบัติให้มากยิ่งขึ้น และมุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากภาวะวิกฤต พร้อมทั้งวางรากฐานการพัฒนาระบบเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีความเข้มแข็ง มีเสถียรภาพ และมีภูมิคุ้มกันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกและสามารถพึ่งตนเองได้มาก ขึ้น ขณะเดียวกัน จะต้องให้ความสำคัญลำดับสูงกับการบริหารการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างสภาวะผู้นำร่วมกันในทุกระดับ ในอันที่จะสร้างพลังร่วมกันให้เกิดค่านิยมใหม่ในสังคม ที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการประเทศใหม่ที่พร้อมรับการ เปลี่ยนแปลงของโลก

5 Comments

Filed under :: ประวัติศาสตร์ ::

5 responses to “:: พัฒนาการด้านเศรษฐกิจสมัยรัตนโกสินทร์ ::

  1. คนน่ารัก

    ขอบคุนมากค่ะ

  2. ขอบคุณมากค่ะข้อมูล

  3. ขอบคุณมากคะ

  4. แจนน

    ขอบคุนนะค่ะ

:: ความเห็น ::