:: ม. 2 ::

  • พระสารีบุตร

เดิมชื่อ อุปติสสะ เป็นบุตรของวังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อสารี บิดาเป็นนายบ้าน อุปติสสคาม ใกล้เมืองราชคฤห์ บิดามารดามีฐานะร่ำรวย เหตุที่ท่านได้ชื่อว่า สารีบุตร เนื่องจากเมื่อท่านบวชแล้วเพื่อนพระภิกษุด้วยกันมักเรียกท่านว่า สารีบุตร แปลว่า บุตรนางสารีตามชื่อมารดาของท่านอุปติสสะมีสหายคนหนึ่งชื่อว่า โกลิตะ เป็นบุตรของนายบ้านโกลิตคามซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก ทั้งสองเป็นเพื่อนสนิทกัน เที่ยวด้วยกันและศึกษาศิลปวิทยาร่วมกัน วันหนึ่งทั้งสองได้ไปเที่ยวชมมหรสพในเมืองเห็นความไร้สาระของมหารสพเกิดความเบื่อหน่ายในการเสพสุขสำราญจึงปรึกษากันแล้วชวนกันพร้อมกับบริวารบวชเป็นปริพพาชกอยู่ในสำนักสัญชัย เวลัฏฐบุตร เพื่อศึกษาธรรมแต่ยังมิได้บรรลุธรรมพิเศษเป็นที่สุดที่พอใจ จึงนัดหมายกันว่าผู้ใดได้บรรลุธรรมพิเศษก่อน ผู้นั้นจงบอกแก่ผู้อื่น

ขณะนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ พระอัสสชิซึ่งเป็นองค์หนึ่งในจำนวนปัญจวัคคีย์ได้เดินทางมาเพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและกำลังบิณฑบาตอยู่ อุปติสสะได้พบท่านเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงติดตามไปเมื่อพระอัสสชิฉันอาหารเสร็จแล้ว จึงได้เข้าไปถามถึงข้อปฏิบัติ พระอัสสชิได้แสดงธรรมให้ฟังสั้น ๆ ว่า “สิ่งทั้งหลายย่อมเกิดจากเหตุ จะดับไปก็เพราะเหตุดับ”อุปติสสะได้ฟังเกิดดวงตาเห็นธรรม คือ เข้าใจแจ่มแจ้งสิ้นความสงสัยบรรลุโสดาบัน เมื่อทราบว่าพระพุทธเจ้าประทับอยู่พระเวฬุวันจึงนำธรรมที่ตนได้ฟังไปเล่าถ่ายทอดให้โกลิตะผู้เป็นสหายฟัง โกลิตะเมื่อฟังแล้วก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเช่นเดียวกัน จึงไปลาอาจารย์สัญชัย พร้อมทั้งบริวารพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และได้ขอบวชเป็นพระสาวกพร้อมทั้งบริวาร พระพุทธเจ้าประทานบวชให้ทั้งหมด เมื่อบวชแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาอบรม บริวารทั้งหมดได้สำเร็จอรหันต์ก่อน ส่วนอุปติสสะ ได้บำเพ็ญธรรมต่อมาอีก 15 วันจึงได้สำเร็จอรหันต์พระสารีบุตรได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุอื่นในทางปัญญา เป็นผู้มีคุณธรรมดีเด่นด้านปัญญา เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า เป็นกำลังสำคัญในการประกาศพระศาสนาพระสารีบุตรนิพพานวันเพ็ญกลางเดือน 12 นิพพานก่อนพระโมคคัลลานะ 15 วัน และก่อนพระพุทธเจ้าประมาณ 7 เดือน ก่อนนิพพานท่านได้เทศนากล่อมเกลาจิตใจของบิดามารดาจของท่านให้กลับใจมานับถือพระพุทธศาสนาจนเป็นผลสำเร็จ

คุณธรรมที่เป็นแบบอย่าง

1. เป็นผู้มีปัญญาเลิศ สามารถเข้าใจพระธรรมคำสอนของพรพุทธเจ้าได้อย่างลึกซึ้งและอธิบายให้คนอื่นฟังได้อย่างดียิ่ง แม้เรื่องยากเพียงไรก็ตาม ก็สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย เมื่อมีพระสงฆ์สาวกจะทูลลาไปต่างเมือง พระพุทธเจ้ามักตรัสให้ไปลาและรับฟังโอวาทจาก
พระสารีบุตรด้วย

2. เป็นผู้มีขันติเป็นเลิศ มีความสงบเสงี่ยมไม่คิดร้ายใคร ไม่โกรธหรือคิดตอบโต้ใคร ๆ เช่น ท่านถูกพราหมณ์คนหนึ่งซึ่งทราบว่า ท่านไม่โกรธและมีความอดทน ย่องไปทุบข้างหลังจนท่านเซไปข้างหน้า ท่านก็ไม่เหลียวมอง ทำให้พราหมณ์เกิดความสำนึกผิดและขอขมาท่าน

3. เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีเป็นเลิศ พระสารีบุตรเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที ท่านนับถือพระอัสสชิเป็นพระอาจารย์องค์แรกของท่าน เมื่อรู้ว่าพระอัสสชิอยู่ในทิศใด เวลาจะนอนท่านจะหันศีรษะไปทางทิศนั้น นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้ยอดกตัญญูรู้คุณแม้เพียงเพราะพรามหณ์แก่ชื่อว่าราธะซึ่งเคยตักข้าวใส่บาตรท่านทัพพีท่านก็จำได้และเมื่อราธพราหมณ์ประสงค์จะบวชแต่ไม่มีใครรับรองให้บวช
ท่านก็กราบทูลพระพุทธเจ้าขอรับหน้าที่บวชให้

4.เป็นผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน พระสารีบุตร เป็นผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตนมาก ถึงแม้จะได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่ามีปัญญาเทียบเท่าพระองค์ ท่านก็ไม่เคยลืมตนท่านอ่อนโยนต่อทุกคน ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวท่านจึงเป็นที่รักของเพื่อนพระสาวกด้วยกันเป็นอย่างมาก

  • พระโมคคัลลานะ

เดิมชื่อ โกลิตะ เป็นบุตรของนายโกลิตะคาม ชื่อโกลิตะเช่นเดียวกับท่าน มารดาชื่อนางโมคคัลลีเมื่อบวชแล้วพระสงฆ์เรียกท่านในนามมารดาว่า โมคคัลลานะ ท่านเป็นสหายที่สนิทกันกับอุปติสสะ (พระสารีบุตร) ได้บวชพร้อมกับพระสารีบุตร บวชแล้วได้สำเร็จอรหันต์ก่อนพระสารีบุตร 7 วันพระโมคคัลลานะ นับแต่อุปสมบทได้ 7 วัน ไปทำความเพียรที่หมู่บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ เกิดความโงกง่วงเข้าครอบงำพระพุทธเจ้าเสด็จไปที่นั่นและทรงแสดงวิธีแก้ความง่วง พร้อมกับประทานโอวาทว่าด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่นให้ใช้ปัญญาพิจารณาเวทนาทั้งหลายว่า เป็นอนิจจังไม่เที่ยงแท้แน่นอนท่านได้ปฏิบัติตามโอวาทที่ทรงสั่งสอนก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันนั้นนั่นเองพระโมคคัลลานะ ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุอื่นในทางมีฤทธิ์ เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า คู่กับพระสารีบุตร ซึ่งเป็นอัครสาวกเบื้องขวา ท่านเป็นที่เกรงขามของคนอื่น พูดอะไรคนมักเชื่อฟัง เป็นกำลังสำคัญในการประกาศพระศาสนา ทำหน้าที่ในการปกครอง ดูแลพระภิกษุที่ประพฤติมิชอบ นอกจากนั้นท่านยังมีความสามารถในงานก่อสร้าง เช่น คราวหนึ่งพระพุทธเจ้าได้มอบหมายให้ท่านควบคุมงานก่อสร้างโลหะปราสาทที่นางวิสาขาสร้างถวายจนเสร็จสมบูรณ์พระโมคคัลลานะ นิพพานที่ตำบลกาฬศิลา เหตุที่นิพพาน เนื่องจากถูกลัทธิตรงข้ามกับพระพุทธศาสนา เกิดความอิจฉาริษยาเกรงวาเมื่อท่านยังอยู่จะทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น จึงจ้างพวกโจรทุบตีท่าน แต่ก็ไม่สามารถทำอันตรายท่านได้ เพราะท่านรู้ตัวและหลบหนีไปก่อนถึงสองครั้ง พอครั้งที่สามท่านพิจารณาเห็นว่าคงกรรมเก่า จึงไม่ได้หลบหนีไปไหน พวกโจรก็ทุบตีท่านจนกระดูกแตกละเอียดและเข้าใจว่าท่านตายแล้ว จึงนำไปทิ้งไว้ที่พุ่มไม้แล้วพากันหลบหนีไป ท่านได้พยายามรักษาร่างกายและไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูลลานิพพานแล้วกลับมานิพพาน ณ จุดเดิม พระโมคคัลลานะนิพพานเมื่อวันสิ้นเดือน 12 ภายหลังพระสารีบุตรนิพพานได้ 15 วัน

คุณธรรมที่เป็นแบบอย่าง

1. เป็นผู้มีฤทธิ์มาก หมายถึงสามารถแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้ เพราะพระโมคคัลลานะได้ผ่านการบำเพ็ญสมาธิอย่างเชี่ยวชาญ ทำให้สามารถใช้ฤทธิ์ปราบปรามคนชั่ว คนดุร้าย สามารถชักจูงให้เขาเหล่านั้นละการประพฤติชั่วหันกลับมาถือศีลปฏิบัติธรรมกันมากขึ้น

2. เป็นผู้มีกุศโลบายในการสอนคน เนื่องจากพระโมคคัลลานะมีฤทธิ์มาก แต่ก็ไม่ได้ใช้ฤทธิ์พร่ำเพรื่อ ต่อเมื่อมีเหตุจำเป็นต้องใช้ท่านถึงจะใช้ฤทธิ์นั้นเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการสอนคนและปราบคนชั่วให้เป็นผู้หันมานับถือพระพุทธศาสนา นอกจากนั้นท่านยังมีความสามารถพิเศษเหนือสาวกอื่น ๆ ในด้านการชี้แจงให้พุทธบริษัทเห็นบาปบุญคุณโทษได้อย่างลึกซึ้งอีกด้วย

  • นางขุชชุตตรา

เป็นสตรีรูปค่อม เป็นธิดาของแม่นมของโฆษกเศรษฐีผู้เป็นบิดาเลี้ยงของพระนางสามาวดีซึ่งต่อมาได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าอุเทน กษัตริย์กรุงโกสัมภีนางขุชชุตตราได้รับมอบหมายจากเศรษฐีให้เป็นหญิงรับใช้ประจำตัวของพระนางสามาวดีตั้งแต่ยังสาว ต่อมาเมื่อพระนางได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าอุเทนและเข้าไปอยู่ในราชสำนักแล้วนางขุชชุตตราก็ได้ติดตามไปรับใช้ด้วยพระเจ้าอุเทนพระราชทานเงินค่าดอกไม้แก่พระนางสามาวดีวันละ 8 กหาปณะ ซึ่งพระนางได้มอบหมายให้นางขุชชุตตราเป็นผู้จัดซื้อดอกไม้ และนางขุชชุตตราก็ได้ยักยอกเงินค่าดอกไม้วันละ 4 กหาปณะ ซื้อมาเพียง 4กหาปณะเท่านั้นเป็นประจำทุกวันวันหนึ่ง คนขายดอกไม้ทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เมื่อนางขุชชุตตราได้ช่วยจัดเตรียมภัตตาหารถวายและได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล วันนั้นนางได้ซื้อดอกไม้ทั้ง 8 กหาปณะมาถวายพระนางสามาวดี ทำให้พระนางสามาวดีเกิดความสงสัยจึงซักถาม นางขุชชุตตราก็ได้รับสารภาพ และเล่าเรื่องที่ตนได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าจนเข้าใจแจ่มแจ้งและบรรลุโสดาปัตติผลแล้วพระนางสามาวดีมีความสนพระทัยใคร่อยากฟังธรรมที่นางขุชชุตตราได้ฟังแล้ว จึงให้นางขุชชุตตราอาบน้ำแต่งตัวอย่างดี ปูอาสนะให้นั่งแสดงธรรมแก่พระนางและหญิงบริวารดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เมื่อจบการแสดงธรรม หญิงเหล่านั้นทั้งหมดบรรลุโสดาปัตติผล พระนางจึงแสดงคารวะและตรัสให้นางขุชชุตตราไม่ต้องทำงานอีกต่อไป ให้นางอยู่ ในฐานะเป็นผู้นำธรรมะของพระพุทธเจ้ามาแสดงทุกวันซึ่งนางก็ได้ปฏิบัติเป็นประจำ ทำให้นางเป็นผู้มีความแตกฉานในธรรมมีความเชี่ยวชาญในธรรมเป็นอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทรงยกย่องนางขุชชุตตราว่า”เป็นเลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลาย ผู้เป็นธรรมกถึก คือ ” ผู้แสดงธรรม ”

คุณธรรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง

1. มีความเพียรช่วยเหลือตนเอง แม้ร่างกายจะพิการ คือ หลังค่อม แต่ก็ไม่ยอมแพ้ต่อชีวิต ประกอบการงานหาเลี้ยงชีพด้วยตนเอง

2. เป็นฝึกฝนตนเอง ถึงแม้ว่านางขุชชุตตราจะยักยอกค่าดอกไม้เป็นประจำทุกวันก็ตาม แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าแล้ว กลับมีความสำนึกผิด ละเว้นในสิ่งไม่ดีที่ได้กระทำและตั้งมั่นอยู่ในความดีได้ในที่สุด

3. เป็นผู้มีปัญญามาก เอาใจใส่จดจำพระธรรมคำสอนและนำมาถ่ายทอดได้อย่างเชี่ยวชาญ จนได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเอตทัคคะในการเทศน์สอนคนอื่น

  • พระเจ้าพิมพิสาร

เป็นพระราชาแห่งแคว้นมคธ มีเมืองหลวงชื่อกรุงราชคฤห์ มีพระมเหสีทรงพระนามว่า เวเทหิ มีพระโอรส ๑ พระองค์ทรงพระนามว่า อชาตศัตรูเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ได้เสด็จออกบรรพชา ได้เสด็จมาพักที่เชิงเขาปัณฑวะ แคว้นมคธ ขณะนั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบข่าว ได้เสด็จไปพบ ทรงพอพระทัยในบุคลิกลักษณะของพระสิทธัตถะเป็นอย่างมาก และได้ทูลเชิญให้ครองราชสมบัติครึ่งหนึ่งแห่งแคว้นมคธ ซึ่งพระสิทธัตถะ ได้ตอบปฏิเสธและชี้แจงถึงจุดมุ่งหมายในการออกบวช พระเจ้าพิมพิสารจึงได้ทรงขอร้องว่า เมื่อทรงสำเร็จธรรมที่ปรารถนาแล้วขอให้เสด็จกลับมายังกรุงราชคฤห์เพื่อโปรดพระองค์บ้าง

เมื่อพระสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าและได้ทรงเสด็จไปเผยแพร่ประกาศพระศาสนาแล้ว ได้เสด็จไปยังแคว้นมคธ ได้ประทับอยู่ที่
ลัฏฐิวัน ชานเมืองราชคฤห์พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบข่าว ได้เสด็จไปเฝ้าพร้อมกับข้าราชบริพารและชาวเมืองเป็นจำนวนมากพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสารพร้อมทั้งข้าราชบริพารพร้อมชาวเมือง หลังจบพระธรรมเทศนาพระเจ้าพิมพิสารได้สำเร็จมรรคผลชั้นโสดาบันทรงประกาศพระองค์เป็นอุบาสกนับถือพระพุทธเจ้าพระเจ้าพิมพิสารได้กราบทูลถึงความปรารถนาของพระองค์5 ประการ
แก่พระพุทธเจ้าและความปรารถนาทั้ง 5 ประการนั้น ได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วในวันนี้ความปรารถนาของพระเจ้าพิมพิสาร 5 ประการ

1. ขอให้ได้ทรงเป็นกษัตริย์แห่งแคว้นมคธ
2. ขอให้พระอรหันต์ได้มาสู่แคว้นของพระองค์
3. ขอให้พระองค์ได้เข้าไปนั่งใกล้พระอรหันต์
4. ขอให้พระอรหันต์ได้แสดงธรรมแก่พระองค์
5. ขอให้พระองค์ได้รู้ธรรมของพระอรหันต์

พระเจ้าพิมพิสารได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมพระภิกษุสงฆ์เสด็จไปรับภัตตาหารที่พระราชนิเวศน์ในวันรุ่งขึ้น
ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงรับอาราธนาในวันรุ่งขึ้น พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์พุทธสาวก ได้เสด็จไปทรงรับภัตตาหารที่พระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสาร หลังจากเสร็จจากภัตตกิจแล้วพระเจ้าพิมพิสารได้กราบทูลถวายอุทยานเวฬุวัน ซึ่งเป็นสวนหลวงแด่พระพุทธเจ้าสำหรับใช้เป็นสถานที่ประทับ พระพุทธเจ้าทรงรับไว้ เพราะฉะนั้น เวฬุวัน หรือสวนไม้ไผ่จึงเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาพระเจ้าพิมพิสารทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงเป็นกำลังสำคัญในการประกาศพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงนับถือพระพุทธศาสนาจนตลอดพระชนม์ชีพ

คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง

1. ทรงมีน้ำพระทัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จะเห็นได้จากเมื่อพระองค์เสด็จไปพบพระสิทธัตถะ พระองค์ได้ทูลเชิญให้พระสิทธัตถะอยู่ครองราชสมบัติครึ่งหนึ่งแห่งแคว้นมคธ โดยมิทรงหวงแหนหรือตระหนี่แต่ประการใด

2. ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง เห็นได้จากเมื่อพระองค์สดับพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าแสดงแล้ว ทรงมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ประกาศตนเป็นอุบาสก นับได้ว่าพระเจ้าพิมพิสารเป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกที่ประกาศตนเป็นอุบาสกผู้นับถือพระพุทธศาสนาเป็นพระองค์แรก

3. ทรงเอาพระทัยใส่ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา พระเจ้าพิมพิสารทรงดำริว่าสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าพร้อมพระภิกษุสงฆ์ที่อุทยานลัฏฐิวันนั้น คับแคบไม่เพียงพอเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์หมู่มาก พระองค์จึงได้ถวายพระอุทยานเวฬุวันเป็นสถานที่ประทับแห่งใหม่และพระเวฬุวันจึงได้ชื่อว่าเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาด้วย

  • นันทิวิสาลชาดก

เมื่อพระศาสดาเสด็จประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงพระปรารภถึงพระภิกษุซึ่งเป็นผู้ว่ายากรูปหนึ่ง ทรงตรัสเรื่องนี้ว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยพระพุทธเจ้าที่ชื่อว่า พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ความมีอยู่ว่า นายมิตตวินทุกะถูกจักรพัดอยู่บนศีรษะตลอดเวลา จึงได้รับความทุกข์ทรมานมาก ขณะนั้นพระโพธิสัตว์เจ้าได้เดินผ่านมา นายมิตตวินทุกะ จึงถามว่า“ข้าแด่พระองค์ ข้าพเจ้าได้กระทำอะไรไว้แก่เทวดา ข้าพเจ้าได้กระทำความชั่วอะไร จักรนี้ได้จรดที่ศีรษะแล้วพัดผันอยู่บนกระหม่อมของข้าพเจ้า”พระโพธิสัตว์ตรัสว่า“เพราะเหตุใดเล่า ท่านผ่านทั้งปราสาทแก้วผลึก ปราสาทเงิน ปราสาทแก้วมณี และปราสาททองมาแล้วจึงมาถึงณที่นี่ได้”นายมิตตวิทุกะกล่าวว่า“ขอพระองค์ท่านจงดูข้าพเจ้าผู้มีความหายนะเนื่องเพราะสำคัญว่าที่นี่มีโภคทรัพย์สมบัติมากมายกว่าปราสาททั้ง 4 หลังที่กล่าวมานี้”พระโพธิสัตว์ จึงตรัสตอบว่า “เนื่องเพราะท่านมีความปรารถนามากเกินไป ได้ครอบครองนารี ๔ นาง ไม่พอใจทั้ง ๔ นางได้ครอบครองนารีทั้ง ๘ นาง ไม่พอใจทั้ง ๘ นาง ได้ครอบครองนารีทั้ง ๑๖ นาง ไม่พอใจทั้ง ๑๖ นางได้ครอบครองทั้ง ๓๒ นาง ไม่พอใจทั้ง ๓๒ นาง ท่านจึงได้ประสบกับจักรที่พัดอยู่บนศีรษะของท่าน เพราะถูกความโลภ ความปรารถนาที่มากเกินไป “ พระพุทธองค์จึงตรัสสั่งสอนว่า “ขึ้นชื่อว่าความอยาก มีสภาพแผ่ไปยิ่งใหญ่ไพศาล ทำให้เต็มได้ยาก (ความอยากไม่มีที่สิ้นสุด) หากชนเหล่าใดตกอยู่ภายใต้อำนาจของความอยากแล้ว ก็ยากที่จะถอนตัวออกได้ง่าย ๆ เหมือนกับท่านในปัจจุบันนี้ ต้องเทินจักรไว้อยู่บนศีรษะตลอดเวลา”พระโพธิสัตว์ตรัสเช่นนี้แล้ว ก็เสด็จสู่เทวสถานแห่งตนทันที ฝ่ายมิตตวินทุกะ ก็ยังคงมีจักรพัดอยู่บนศีรษะอยู่ตลอดเวลา และได้รับความทุกขเวทนาหนักเรื่อยไป จนกว่าบาปกรรมที่กระทำไว้จะหมดสิ้นไป
การที่นายมิตตวินทุกะ ได้รับกรรมเช่นนี้ ก็เนื่องด้วยความโลภ ความปรารถนา และความอยากไม่มีที่สิ้นสุดนั่นเอง

  • มิตติวินทุกชาดก ว่าด้วยเรื่องจักรกรดหมุนบดอยู่บนศีรษะ

            ปฐมเหตุ :  ปรารภภิกษุว่ายากรูปหนึ่ง
เรื่องสาธก
: มีบุรุษคนหนึ่งชื่อ มิตตวินทุกะ ทำร้ายบิดามารดาของตน หนีออกจากบ้านไปลงเรือ ผลกรรมนี้บันดาลไม่ให้เรือแล่นไปได้ เมื่อกัปตันเรือรู้ความจริงเข้าจึงสั่งให้จับเขาโยนทะเล เขาว่ายน้ำไปพบเกาะที่มีเปรต 4 นางอาศัยอยู่ เขาไม่รู้ว่าเธอเป็นเปรตจึงเสพสุขกับเธอทั้ง 4 จากนั้นเขาก็คิดว่าคงมีเกาะข้างหน้าอีก จึงว่ายน้ำจากไปพบเกาะที่เปรตทั้ง 8 นางอาศัยอยู่เขาคิดแบบเดิมอีก จึงว่ายน้ำออกไปพบเกาะที่มีเปรต 16 นาง และพบอีก 32 นาง ก็ยังอยากได้มากกว่านั้นอีก จึงว่ายน้ำหนีต่อไปอีก คราวนี้ได้พบสถานที่ซึ่งเป็นที่เสวยวิบากกรรมของพวกสัตว์นรกที่มีกงจักรพัดผันอยู่เหนือศีรษะแต่มิตตวินทุกะกลับมองเห็นเป็นเครื่องประดับที่สวยงามมากจนอดใจไว้ไม่ไหวจึงอ้อนวอนขอให้ตนสักอันหนึ่ง เจ้าสัตว์นรกนั้นพยายามตอบปฏิเสธอย่างไรมิตตวินทุกะก็อ้อนวอนรบเร้าอยากได้สักอันหนึ่งให้ได้ สัตว์นรกนั้นจึงคิดได้ว่าตนคงหมดวิบากกรรมแล้ว นายคนนี้คงทำกรรมเดียวกับตนที่เคยทำมา คือ ทำร้ายบิดามารดาของตนเพราะเห็นผิดเป็นชอบ คิดดังนั้นจึงปลดกงจักรออกจากศีรษะส่งให้นายมิตตวินทุกะ กงจักรก็หมุนอยู่เหนือศีรษะเขา สร้างความเจ็บป่วยและทุกข์ทรมานให้แก่เขา แต่ก็ไม่อาจนำมันออกจากศีรษะได้ ทันใดก็มีเทวดาตนหนึ่งเหาะผ่านมาพบเข้า เขาจึงร้องถามว่าตนได้ทำกรรมอะไร จักรกรดจึงได้พัดบดอยู่บนศีรษะเช่นนี้ เทพบุตรจึงกล่าวว่า ท่านเสพสุขนางเปรตมาถึง 60 นางแล้วแต่ยังปรารถนาอีก ท่านยังไม่รู้จักพอ จนมาพอใจกับจักรกรด จักรกรดจึงพัดบดอยู่บนศีรษะ ท่านถูกความปรารถนาครอบงำจิตใจอยู่ตลอดเวลา อันธรรมดาว่าความปรารถนาต้องการนี้ไร้ขอบเขต ยากที่จะทำให้รู้สึกพอเหมือนมหาสมุทรกว้างใหญ่ไพศาล ยากที่จะอิ่มเต็มด้วยน้ำที่หลั่งไหลมาจากฟากฟ้าดังนั้นชนเหล่าใดมัวกำหนัดยินดีกับความปรารถนา ชนเหล่านั้นจึงต้องเป็นทูนจักรไว้

 ชาดกเรื่องนี้มุ่งสอนให้คนรู้ว่า :  ความต้องการของมนุษย์เราไร้ขอบเขต ไร้ทิศทางไม่อาจเติมให้เต็มได้ ดังนั้นหัดพอใจในสิ่งที่ได้ ยินดีกับสิ่งที่มี และจงพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างให้เต็มสติกำลังและประพฤติสุจริตเสมอ

  • ราโชวาทชาดก 1 ว่าด้วยวิธีชนะ

          ปฐมเหตุ : พระพุทธเจ้าทรงปรารถนาการตัดสินคดีอย่างเที่ยงธรรมของพระเจ้าโกศล
เรื่องสาธก
 :  นานมาแล้วมีพระราชาพรหมทัต ผู้ครองเมืองพาราณสีในเวลาเดียวกันนั้นก็มีพระราชาอีกองค์หนึ่งผู้ครองแคว้นโกศล ทรงพระนามว่าพัลลิกะ พระราชาทั้งสององค์ปกครองแว่นแค้วนโดยธรรม ประพฤติทศพิธราชธรรมทรงตัดสินคดีอย่างตรงไปตรงมา คนทำผิดย่อมได้รับโทษทัณฑ์ที่เหมาะสมคนทำดีย่อมได้รับการปลดปล่อย เจ้าพนักงานฉ้อฉนที่มักพิจารณาตัดสินคดีความไม่เที่ยงธรรมถูกปลดออกจากตำแหน่งหน้าที่ จนกระทั่งไม่มีคดีให้พิจารณาตัดสินอีกต่อไป ถึงปานนั้น พระราชาทั้งสององค์ก็ยังดำริที่จะปลอมพระองค์ออกจากพระราชวังเพื่อค้นว่าพระองค์มีคุณมีโทษที่ประชาชนพลเมืองกล่าวถึงกันอย่างไร

พระราชาทั้งสองกับสารถีคนสนิททรงปลอมพระองค์ปะปนไปกับประชาชนในเมือง จากในเมืองก็เสด็จออกนอกเมือง จากเมืองก็เสด็จไปยังท้องถิ่นทุรกันดารก็ยังไม่ปรากฏว่ามีประชาชนกล่าวโทษแต่ประการใด กลับทรงสดับแต่การสรรเสริญคุณงามความดีต่าง ๆ ระหว่างที่เสด็จกลับพระนครขณะที่รถม้าวิ่งผ่านไปตามทางเกวียนแคบที่ไม่อาจแล่นสวนทางกันได้ ก็บังเอิญราชรถของพระราชาทั้งสองพระองค์มาสวนทางกันสารถีคนสนิทต่างก็บอกให้สารถีอีกฝ่ายหนึ่งหลีกทางให้เพราะผู้ที่ประทับมานั้นเป็นพระราชา  เมื่อต่างฝ่ายต่างเป็นพระราชาจึงไม่หลีกทางให้แก่อีกฝ่าย สารถีทั้งสองจึงตกลงใช้หลักฐานทุกอย่างที่ตนนึกได้ เช่น ฝ่ายใดมีอาณาเขตกว้างขวาง มีทรัพย์สินมีกำลังกองทัพ เป็นต้น ซึ่งปรากฏว่าหลักฐานทุกอย่างเท่าเทียมกัน แม้แต่พระชนมายุของพระราชาทั้งสองก็เท่ากัน สารถีทั้งสองจึงตกลงกันใช้คุณความดีของพระราชาทั้งสองเป็นกำหนด โดยสารถีฝ่ายพระโอรสโกศลกล่าวว่าพระเจ้าพัลลิกะทรงชนะคนกระด้างด้วยความกระด้าง ทรงชนะคนอ่อนโยนโดยความอ่อนโยน ทรงชนะคนดีด้วยความดี ทรงชนะคนไม่ดีด้วยความไม่ดี พระราชาของเราองค์นี้มีคุณสมบัติเป็นเช่นนี้ ท่านจงหลีกทางให้เราเถิด จากนั้นสารถีของฝ่ายของพระราชาพาราณสีก็กล่าวว่า พระเจ้าพาราณสีทรงชนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธ ทรงชนะคนไม่ดีด้วยความดี ทรงชนะคนตระหนี่ด้วยการให้ ทรงชนะคนพูดเหลาะแหละด้วยคำสัตย์ พระราชาของเราองค์นี้มีคุณสมบัติเป็นเช่นนี้ ท่านจงหลีกทางให้เราเถิด เมื่อสารถีของพระเจ้าพาราณสีกล่าวจบลงพระเจ้าพัลลิกะแห่งโกศลและสารถีก็เสด็จลงและลงจากรถปลดม้า ถอยรถถวายทางแด่พระเจ้าพาราณสี

ชาดกเรื่องนี้มุ่งสอนให้คนรู้ว่า : ทรัพย์สินเงินทองที่มากมาย ระดับชั้นวรรณะที่สูงส่ง ใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินคดีความหรือเรื่องราวในสังคมได้ แต่ถ้าคุณสมบัติเหล่านี้มีความเท่าเทียมกัน ธรรมสมบัติ คือ คุณความดีในส่วนที่เกี่ยวกับความประพฤติของบุคคลก็สามารถนำมาเป็นเกณฑ์ตัดสินที่ดีได้

 

 

 

 

 

Leave a comment

Filed under :: ชาดก พุทธสาวก ุพุทธสาวิกา ::, :: ธรรมศึกษา ::

:: ความเห็น ::